การขยายตัวทางเศรษฐกิจของแขวงคำม่วนในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของแขวงคำม่วนในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ย. 2565

| 675 view

          ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงคำม่วนมีอัตราการขยายตัวร้อยละ ๓.๕๖ คิดเป็นมูลค่า ๔,๔๗๕ พันล้านกีบ (ประมาณ ๙,๑๓๒ ล้านบาท) โดยมาจาก

          ๑) ภาคการเกษตร ขยายตัวร้อยละ ๖.๔๕ คิดเป็นมูลค่า ๑,๐๓๖ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒,๑๑๔ ล้านบาท) หรือร้อยละ ๒๓.๑๖ ของ GDP โดยแขวงฯ กำหนดให้ภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก โดยในช่วงดังกล่าวสามารถส่งออกผลผลิตการเกษตร มูลค่ารวม ๖๑.๘๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตด้านการเกษตรที่สำคัญคือข้าว (๖๖,๙๔๓ ตัน)

          ๒) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ ๔.๙๘ คิดเป็นมูลค่า ๒,๐๗๙ พันล้านกีบ (ประมาณ ๔,๒๔๓ ล้านบาท) หรือร้อยละ ๔๖.๔๔ ของ GDP โดยสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์แร่ธาตุทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า ๑๗๙.๗๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้าและเหมืองแร่ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน

          ๓) ภาคการบริการ ขยายตัวร้อยละ ๒.๒๔ คิดเป็นมูลค่า ๑,๑๖๑ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒,๓๖๙ ล้านบาท)[๑] หรือร้อยละ ๒๕.๙๕ ของ GDP ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๔ ธุรกิจภาคบริการโดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งและร้านค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ คลี่คลาย การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน สปป. ลาว ภายใต้นโยบาย“ลาวเที่ยวลาว”“การท่องเที่ยวสีเขียว” และการเปิดด่านสากลสำหรับการเข้า - ออกของบุคคลเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการโดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหารเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ นักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางไปแขวงคำม่วนจำนวน ๑๖๑,๐๙๒ คน นับเป็นอันดับสูงที่สุดของประเทศ (จากทั้งหมด ๗๕๖,๓๓๘ คน)[๒] สร้างรายได้ให้แก่แขวงฯ ประมาณ ๒๒.๙๕ พันล้านกีบ (ประมาณ ๔๗ ล้านบาท)

          ข้อมูลศูนย์สถิติ แผนกแผนการและการลงทุนแขวงคำม่วนคาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๕ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงคำม่วนจะขยายตัวร้อยละ ๕.๗๕ ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ (ร้อยละ ๖.๐๔) ทั้งนี้ เศรษฐกิจของแขวงฯ อยู่ระหว่างการฟื้นตัวโดยมีปัจจัยส่งเสริมจากการเปิดประเทศและจำนวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะจากภาคการผลิตที่มีศักยภาพของแขวงฯ อาทิ ภาคการเกษตร ไฟฟ้า และเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี ในปี ๒๕๖๔ แขวงฯ มีหนี้สินจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จำนวน ๕๓๒.๑๑ พันล้านกีบ (ประมาณ ๑,๐๘๖ ล้านบาท) โดยในปี ๒๕๖๕ แขวงฯ อนุมัติงบประมาณสำหรับชำระหนี้ให้แก่ ๕๔ โครงการ คิดเป็นมูลค่า ๕๓.๑๕ พันล้านกีบ (ประมาณ ๑๐๘ ล้านบาท) โดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี

แหล่งอ้างอิง    

๑. ศูนย์สถิติ แผนกแผนการและการลงทุนแขวงคำม่วน (รายงานแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปี ค.ศ. ๒๐๒๒) สืบค้นวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๕

๒. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจสังคม ประจำวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๒ <https://laoedaily.com.la/2022/09/01/116461/>

๓. Facebook: Khammouane News ประจำวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๒๒

* หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๔๙๐ กีบ

 

[1] แขวงคำม่วนแยกรายได้จากภาษีอากรออกจากภาคบริการ โดยขยายตัวร้อยละ ๓.๙๕ คิดเป็นมูลค่า ๑๙๙ พันล้านกีบ (ประมาณ ๔๐๖ ล้านบาท) หรือ     ร้อยละ ๔.๔๕ ของ GDP

[2] สำหรับ ๕ แขวงตอนใต้ของ สปป. ลาว ในเขตกงสุลมีนักท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ รวมจำนวน ๒๑๘,๔๐๓ คน ประกอบด้วย แขวงสะหวันนะเขต ๑๒๐,๓๕๗ คน แขวงสาละวัน ๔๗,๔๘๕ คน แขวงจำปาสัก ๑๕,๔๙๒ คน แขวงอัดตะปือ ๒๔,๕๖๕ คน และแขวงเซกอง ๑๐,๕๐๔ คน