วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ม.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ม.ค. 2566
เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๖ นายคำลาวัน จันทะลาวัน รองรัฐมนตรีและรองหัวหน้าห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการเงิน กระทรวงแผนการและการลงทุน กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ผู้บริหารแขวงจำปาสักและแขวงอัดตะปือ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีเปิดใช้งานโครงการสถานีและสายส่งไฟฟ้าขนาด ๕๐๐ กิโลโวลต์ จากสถานีบ้านหาด เมืองโขง แขวงจำปาสัก ไปยังชายแดนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
นายจันทะบูน สุกอาลุน ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ระบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติแบบครบวงจรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของ สปป. ลาวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นโครงการแรกของ สปป. ลาว ที่ดำเนินการในรูปแบบการสัมปทาน โดยบริษัทเอกชนจีน Yunnan Energy Investment (HK) Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างและดำเนินงานในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) ถือหุ้นร้อยละ ๗๐ และ EDL ถือหุ้นร้อยละ ๓๐ มีมูลค่าการลงทุนกว่า ๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสายส่งไฟฟ้าโครงการฯ มีความยาวกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร ผ่านพื้นที่เมืองปะทุมพอนและเมืองโขงของแขวงจำปาสัก ตลอดจนเมืองสะหนามไซและเมืองพูวงของแขวงอัดตะปือ
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ดร. ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว รายงานต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓ ของสภาแห่งชาติชุดที่ ๙ ว่า ตามกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว และกัมพูชา ภายในปี ๒๕๗๓ สปป. ลาว จะส่งออกไฟฟ้าไปยังกัมพูชามากกว่า ๖,๐๐๐ เมกะวัตต์ โดยในส่วนของ EDL และการไฟฟ้ากัมพูชา (EDC) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) ระหว่างกันทั้งสิ้น ๓,๐๙๕ เมกะวัตต์ และมีการดำเนินการส่งออกแล้ว ๔๔๕ เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าในแขวง ทางภาคใต้ของ สปป. ลาว อาทิ เขื่อนไฟฟ้าดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ๒ แห่งในแขวงเซกองคือ โครงการโรงไฟฟ้าที่เมืองละมามและเมืองกะลึม
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ฉบับประจำวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓ ระบุว่า ระหว่างปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ สปป. ลาวมีแผนการผลิตไฟฟ้า ๑,๘๐๗ เมกะวัตต์ โดยมาจากไฟฟ้าพลังน้ำร้อยละ ๕๗ พลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ ๒๔ และพลังงานความร้อนถ่านหินร้อยละ ๑๙ และภายในปี ๒๕๗๓ คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีก ๕,๕๕๙ เมกะวัตต์ โดยร้อยละ ๗๗.๕๙ มาจากไฟฟ้าพลังน้ำและส่วนที่เหลือมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และถ่านหิน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ข่าว BIC สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต)
สปป. ลาว ส่งออกพลังงานไฟฟ้าจากแขวงทางภาคใต้ของ สปป. ลาวไปยังกัมพูชาและเวียดนาม <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/laopdrelectricityexportfromsouthernlaoprovinces>
แหล่งอ้างอิง
๑. UPDATE LAOS วันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓
๒. Vientiane Times ประจำวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Champassak03.php?fbclid=IwAR3aklskgFdDkXSC>
๓. Facebook: สถานีโทรทัศน์แขวงจำปาสัก ประจำวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓
๔. ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๖ <https://mgronline.com/indochina/detail/9660000001321>
รูปภาพประกอบ