เกษตรอินทรีย์ โอกาสของธุรกิจไทยใน สปป.ลาว : กรณีน้ำตาลออร์แกนิก

เกษตรอินทรีย์ โอกาสของธุรกิจไทยใน สปป.ลาว : กรณีน้ำตาลออร์แกนิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,181 view

           ปัจจุบัน โลกหันมาใส่ใจสุขภาพและพิถีพิถันในการเลือกบริโภคมากยิ่งขึ้น หลายคนยินดีจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อหาอาหารดี มีคุณภาพสูง ปลอดสารพิษ โดยสรรหาอาหารและวัตถุดิบ ออร์แกนิก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หนึ่งในวัตถุดิบด้านอาหารที่สำคัญ คือ น้ำตาล

           ด้วยน้ำตาลออร์แกนิกมีราคาสูงกว่าน้ำตาลทั่วไปค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดน้ำตาลออร์แกนิกที่สำคัญ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง สหรัฐอเมริกาบริโภคน้ำตาลออร์แกนิก เฉลี่ยปีละ 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ผลิตได้เองเพียง 3,000-4,000 ตัน สหภาพยุโรปก็เช่นกันที่บริโภคน้ำตาลออร์แกนิก ประมาณ 200,000 ตัน/ปี  ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศที่นิยมน้ำตาลออร์แกนิก แต่ไม่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าทั้งหมด ประมาณ 20,000 – 30,000 ตัน/ปี ขณะที่แคนาดานำเข้าน้ำตาลออแกนิกในปริมาณ 10,000-15,000 ตัน[1]         

           ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มด้านการตลาดการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกหลักเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สำคัญได้แก่ บราซิล ปารากวัย โคลอมเบีย อาร์เจนตินา เม็กซิโก คิวบาคอสตาริกา ไทย และลาว[2]

           ลาว ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ไม่มีทางออกทางทะเล แต่มีความได้เปรียบตรงที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกสินค้าเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรลาวไม่นิยมใช้ปุ๋ยในการทำเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ปลอดสารเคมี เหมาะสมที่จะแหล่งเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ หรือ “ออร์แกนิก” เป็นอย่างยิ่ง  

          นอกจากนี้ รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผลิตกสิกรรมสะอาด ตามดำรัสว่าด้วยการจัดตั้งปฏิบัติแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ แผนงบประมาณแห่งรัฐประจำปี 2020 ที่ 473/นย ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2019 ที่ระบุให้ภาครัฐปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการส่งออก และลดการพึ่งพาการนำเข้า

          นอกจากนี้ ลาวยังได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (Generalized System of Preference: GSP) ที่ให้สิทธิพิเศษแบบฝ่ายเดียวแก่ประเทศกำลังพัฒนา สิทธิพิเศษของประเทศกำลังพัฒนา ที่ให้สิทธิพิเศษแบบฝ่ายเดียวแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เช่น ระบบสิทธิพิเศษของจีน อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน และสิทธิพิเศษภายใต้สัญญาการค้าเสรีต่าง อาทิ สัญญาการค้าเสรีอาเซียน และ สิทธิพิเศษในการส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียน สิทธิพิเศษดังกล่าวข้างต้น เพิ่มความน่าสนใจให้แก่ลาวเป็นทวีคูณ เนื่องจากมีความได้เปรียบทั้งในด้านการแข่งขัน และการเข้าสู่ตลาดประเทศผู้บริโภคน้ำตาลออร์แกนิกหลัก ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียน โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญเช่น บราซิล ซึ่งได้สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษีจากเพียงบางประเทศเท่านั้น[3]           

          นายอธิพร ราหุลปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว จำกัด[4] ในเครือบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้ลงทุนปลูกอ้อยออร์แกนิกเพื่อการส่งออกรายใหญ่ของไทยในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ด้วยนโยบาย 2+3 โดยชาวไร่อ้อยท้องถิ่นลงที่ดิน และแรงงาน ขณะที่บริษัทสนับสนุนด้านความรู้เทคโนโลยี การตลาด และเงินทุน  ให้ข้อมูลว่า นโยบายการผลิตน้ำตาลออร์แกนิก เป็นทางรอดของบริษัท เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ต่อเนื่องกันหลายปี และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการเอทานอลในแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) ที่ผลิตจาก ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และกากน้ำตาลลดน้อยลง ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลล้นตลาด บริษัทฯ เริ่มส่งเสริมการปลูกอ้อยออร์แกนิกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหยุดการใช้สารเคมีอย่างน้อย 36 เดือน ซึ่งต้องอาศัยความขยันและความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการกำจัดศัตรูพืชโดย ไม่ใช้สารเคมี การคิดค้นวัตถุอินทรีย์เพื่อให้เกิดการตกตะกอนของน้ำตาล รวมทั้งการโน้มน้าวให้ชาวไร่อ้อยเข้าใจและเข้าร่วมการผลิตอ้อยออร์แกนิก และประการสุดท้าย การขอรับการรับรองน้ำตาลออร์แกนิกจากประเทศผู้นำเข้าต่างๆ ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบที่แตกต่างกัน

          การดำเนินการของบริษัทฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงทั้งในด้านผลประกอบการของบริษัทฯ และการสร้างฐานะและความกินดีอยู่ดีให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในแขวงสะหวันนะเขตหันมาปลูกอ้อยออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้น

          นายอธิพรฯ กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของบริษัทฯ ในด้านการผลิตน้ำตาลออร์แกนิก ทำให้มีนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนปลูกน้ำตาลออร์แกนิกใน สปป.ลาว มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัท TTC ของเวียดนาม ที่จะเข้าไปลงทุนเพาะปลูกอ้อยออร์แกนิกในแขวงอัดตะปือ บนพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตให้ได้ 40,000 ตันในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ลาวกลายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิกใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

          อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความท้าทายของการผลิตน้ำตาลออร์แกนิกในลาวบ้างเช่นกัน โดยนอกจากกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนกว่าการผลิตน้ำตาลอื่นๆ แล้ว ยังมีความไม่แน่นอนของการถูกถอนจากประเทศผู้ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีในอนาคต หากลาวหลุดพ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การเก็บกู้ซากระเบิดที่ยังไม่แตก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในลาวอันเป็นผลมาจากสงคราม ราคาน้ำตาลที่ขึ้นอยู่กับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานทดแทนน้ำตาล และแนวโน้มด้านรสนิยมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและบริโภคน้ำตาลลดลง 

          โอกาสมักมาพร้อมกับอุปสรรคและความท้าทาย ตราบใดที่มีความต้องการ ย่อมต้องมีการผลิตสินค้าเพื่อสนองความต้องการนั้นตามมาด้วยเสมอ ราคาน้ำตาลออร์แกนิกที่สูงกว่าน้ำตาลธรรมดาถึง 3-4 เท่า สะท้อนถึงความต้องการน้ำตาลออร์แกนิกในตลาดโลก ที่จะดึงดูดผู้เล่นใหม่ๆ ตลอดเวลา โอกาสมักจะอยู่กับผู้ที่สามารถคว้าไว้เสมอ 

 

* * * * * * * * * * * * *

             ฝ่ายเศรษฐกิจ 

 สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต  

23 กันยายน 2563

 

[1]More Sugar Producers go Organic”, F.O.Lichts International and Sweetener Report, Vol. 151, No.18, June 28, 2019

[2]  เรื่องเดียวกัน

[3] “Generalized System of Preferences, List of Beneficiaries” United Nations Conference of Trade and

Development, 2018 P.2, 5 <https://unctad.org/en/PublicationsLibrary/itcdtsbmisc62rev6_en.pdf>

[4] สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563