การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากแขวงสะหวันนะเขตไปยังลาวบาว เวียดนาม

การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากแขวงสะหวันนะเขตไปยังลาวบาว เวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.ย. 2565

| 775 view

        เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕ ดร. สะถาบันดิด อินสีเซียงใหม่ รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว และนาย Dai Kang Fu ประธานบริษัทเอกชนจีน Jiangsu Hengtong Construction Engineering Co., Ltd. ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากแขวงสะหวันนะเขตไปยังลาวบาว (ชายแดนของ สปป. ลาว - เวียดนาม) ในรูปแบบ Build, Operate and Transfer (BOT) โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ ๒ ปี และระยะเวลาก่อสร้างประมาณ ๓ ปี

        โครงการเส้นทางรถไฟแขวงสะหวันนะเขต - ลาวบาว มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะทาง ๒๒๐ กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีรถไฟ ๑๑ แห่ง (สถานีขนาดใหญ่ ๔ แห่ง และสถานีย่อย ๗ แห่ง) บนพื้นที่ ๔,๑๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๒๕,๖๒๕ ไร่) เป็นรถไฟรางคู่ขนาดรางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร สำหรับเชื่อมกับเส้นทางรถไฟระหว่างไทย สปป. ลาว และเวียดนาม ผ่านเส้นทางหมายเลข ๙ (R9) หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor: EWEC) ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๕๕ บริษัทเอกชนมาเลเซีย Giant Consolidated Limited ได้ลงนามสัญญากับรัฐบาล สปป. ลาว ในการสำรวจและจัดสร้างโครงการเส้นทางรถไฟดังกล่าว ต่อมาได้ยกเลิกการดำเนินโครงการโดยไม่ได้ระบุสาเหตุ

        เจ้าหน้าที่แผนกโยธาธิการและขนส่งแขวงสะหวันนะเขตให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) ว่า บริษัท Jiangsu Hengtong Construction Engineering ยังไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี คาดว่าบริษัทฯ จะดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟตามเส้นทางเดิมที่บริษัทเอกชนมาเลเซียเคยสำรวจไว้ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์นายทองใส ไซยะวงคำดี หัวหน้าห้องว่าการปกครองแขวงสะหวันนะเขต ทราบว่า มีแผนในการเชื่อมกับเส้นทางรถไฟที่จังหวัดมุกดาหารของไทย[๑] และจังหวัดกวางจิของเวียดนามในอนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป. ลาว จะหารือในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเทศต่อไป ทั้งนี้ เดิมบริษัท Giant Consolidated Limited ได้ว่าจ้างบริษัท Jiangsu Hengtong Construction Engineering เป็นผู้สำรวจและออกแบบโครงการ รัฐบาล สปป. ลาวจึงอนุญาตให้บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินโครงการต่อโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงและสำรวจเพิ่มเติม

 

savantrain

ที่มาภาพ: กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว

 

แหล่งอ้างอิง    

๑. กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ประจำวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๒

(https://mpi.gov.la/%E0%BA%9E%E0%BA%B4%E0%BA%97%E0%BA%B5%E0%BB%80%E0%BA%8A%E0%BA%B1%E0%BA%99%E0%BA%9A%E0%BA%BB%E0%BA%94%E0%BA%9A%E0%BA%B1%E0%BA%99%E0%BA%97%E0%BA%B6%E0%BA%81%E0%BA%84%E0%BA%A7%E0%BA%B2%E0%BA%A1%E0%BB%80-9/)

๒. หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ประจำวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๒

๓. สำนักข่าววิทยุ RFA ประจำวันที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (https://www.rfa.org/lao/daily/economy/govt-gives-green-light-to-chinese-company-to-study-savannakhet-lao-bao-railway-project-09182022102927.html)

๔. สำนักข่าว Vte9 Channel ประจำวันที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=m3n-5Xf9ilw)

๕. กลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน สืบค้นวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ (http://www.ftawatch.org/node/46051)

๖. สัมภาษณ์นายทองใส ไซยะวงคำดี หัวหน้าห้องว่าการปกครองแขวงสะหวันนะเขต วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕

๗. Facebook: ชุมชนคนรักนครพนม Nakhon Phanom Community ประจำวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕

* หมายเหตุ พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่

 

[๑] โครงการเส้นทางรถไฟรางคู่สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟระยะทาง ๓๕๕ กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้าง ๖.๖๘ หมื่นล้านบาท