สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพัน สถาบันการเงินขนาดเล็กในแขวงสะหวันนะเขต ได้รับรางวัลนักธุรกิจชั้นนำดีเด่นจากสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑

สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพัน สถาบันการเงินขนาดเล็กในแขวงสะหวันนะเขต ได้รับรางวัลนักธุรกิจชั้นนำดีเด่นจากสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,935 view

          เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพัน (สกรสส.) (SAYNHAYSAMPHANH Deposit - Taking Microfinance Institution) สถาบันการเงินขนาดเล็กในแขวงสะหวันนะเขต เป็น ๑ ใน ๑๐๖ ธุรกิจที่ได้รับรางวัลนักธุรกิจชั้นนำดีเด่นจากสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑ (Top LNCCI Business Leader for Year 2021 COVID-19 Response Award (New Normal)) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่บริษัทที่มีความโดดเด่นในการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ มีการบริหารงานที่มีประสิทธิผล มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว และสามารถนำวิสาหกิจของตนผ่านวิกฤติที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙

          สกรสส. เดิมชื่อ “สหกรณ์สินเชื่อเพื่อพัฒนาครูและการผลิตขนาดเล็ก” ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๔ จากแนวคิดริเริ่มของครอบครัวของนายสายสะหมอน กวานเมืองจัน และนายสำพันโซก ราซพน ครูโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์โพนสะหวัน นครไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ด้วยเงินทุน ๑๐๐ ล้านกีบ (ประมาณ ๒๘๖,๐๐๐ บาท) เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนให้แก่ครูและอาจารย์ โดยให้เงินกู้เพื่อนำไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจภายในครอบครัวโดยไม่ต้องค้ำประกันด้วยวัตถุหรืออสังหาริมทรัพย์

          สกรสส. เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร [๑] โดยได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจชั่วคราวเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐ และใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวรอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่ง สปป. ลาว เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการตอบสนองการบริการด้านการเงินเป็นหลัก คือ การปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กรับเงินฝากและให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านลัดตะนะลังสีใต้ นครไกสอนพมวิหานแขวงสะหวันนะเขต ให้บริการใน ๑๕ เมืองของแขวง และมีสาขาในแขวงคำม่วน แขวงบอลิคำไซ และแขวงเชียงขวาง โดยให้บริการ ได้แก่ ๑) ผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ (ไม่มีระยะเวลากำหนด) และเงินฝากประจำ (มีระยะเวลากำหนด) ตั้งแต่ ๓ - ๓๖ เดือน โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒ - ๑๐ วงเงินฝากตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ กีบ - ๒ พันล้านกีบ (ประมาณ ๓๐ บาท - ๕.๗ ล้านบาท) ๒) ผลิตภัณฑ์เงินกู้สำหรับพนักงานสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๐ - ๒.๕ วงเงินกู้ตั้งแต่ ๑ - ๑๐๐ ล้านกีบ (ประมาณ ๒,๘๖๐ - ๒๘๖,๐๐๐ บาท) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ สกรสส. มีนโยบายในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ นโยบายการเลื่อนชำระเงินกู้ การยกเว้นค่าธรรมเนียม และปิดบัญชียกเว้นการเก็บดอกเบี้ย นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๔ สกรสส. ยังมีผลประกอบการเป็นบวก โดยมีกำไรก่อนการหักภาษีจำนวน ๒๔,๕๑๐ ล้านกีบ (ประมาณ ๗๐.๐๓ ล้านบาท) มีทรัพย์สินทั้งหมด ๕๙๖,๙๙๑ ล้านกีบ (ประมาณ ๑,๗๐๕.๗ ล้านบาท) จำนวนบัญชีเงินฝาก ๔,๘๘๗ บัญชี ยอดเงินฝาก ๔๔๔,๔๗๕ ล้านกีบ (ประมาณ ๑,๒๗๐ ล้านบาท) จำนวนผู้กู้ยืมเงิน ๑๕,๓๒๘ คน ซึ่งคิดเป็นยอดเงินกู้ ๓๓๗,๕๘๒ ล้านกีบ (ประมาณ ๙๖๔.๕๒ ล้านบาท)

          ปัจจุบันมีสถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป. ลาว จำนวน ๑๘ สถาบัน อาทิ สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากจำปาสัก สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากปะตูคำ สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากเอกพัดทะนา สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากนะคอนหลวง สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากดอกคูน และสถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสินซับเมืองเหนือ ทั้งนี้ บุคคล นิติบุคคลต่างประเทศสามารถลงทุนในสถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากได้ในลักษณะร่วมทุน โดยอัตราส่วนการถือหุ้นของต่างประเทศต่ำสุดร้อยละ ๑๐ สูงสุดร้อยละ ๓๐ ของทุนจดทะเบียน สำหรับการนำเข้าทุนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ สปป. ลาว กำหนด และต้องแจ้งธนาคารแห่ง สปป. ลาว เป็นลายลักษณ์อักษร

 

1_5

เครดิตภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า

 

          แหล่งอ้างอิง

          ๑. สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพัน (ประวัติความเป็นมา) วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕

          ๒. สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพัน สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ <https://www.facebook.com/saiyai1123>

          ๓. ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (สถิติการให้อนุญาตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ <https://www.bol.gov.la/microfinance>

          ๔. หนังสือพิมพ์สะหวันพัฒนา (สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝากสายใยสำพันฉลองครบรอบ ๑๓ ปี การก่อตั้ง) วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕          

          ๕. สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (งานมอบรางวัลธุรกิจชั้นนำดีเด่น สอคช. ระยะโควิด-๑๙) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕ <https://lncci.la/lo/top-lncci-business-leader-2021-29-12-2021/>    

          ๖. ดำรัสรัฐบาล สปป. ลาว ว่าด้วยสถาบันการเงินจุลภาค เลขที่ ๔๖๐/ลบ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๒

          ๗. คำแนะนำธนาคารแห่ง สปป. ลาว การดำเนินการปฏิบัติดำรัสว่าด้วยสถาบันการเงินจุลภาค เลขที่ ๐๑/ทหล ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๖  

          *หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๓๕๐ กีบ

**************

 

[๑] สถาบันการเงินจุลภาคอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ในการให้บริการ อาทิ การปล่อยสินเชื่อ การรับฝากเงิน การประกันภัย และอื่น ๆ ในรูปแบบเงินสดให้แก่ประชาชนและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และกิจการขนาดเล็ก ประกอบด้วย ๑) สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝาก คือ สถาบันการเงินที่สามารถดำเนินธุรกิจรับเงินฝากจากประชาชนเป็นสกุลเงินกีบ อาทิ เงินฝากแบบออมทรัพย์และเงินฝากประจำตั้งแต่ ๓ - ๓๖ เดือน สามารถปล่อยเงินกู้สูงสุดได้ไม่เกิน ๕๐ ล้านกีบ (ประมาณ ๑๔๓,๐๐๐ ล้านบาท) โดยต้องปล่อยเงินกู้ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของสินเชื่อทั้งหมด และต้องปล่อยเงินกู้ให้แก่สตรีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ สามารถปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่และเครือข่ายของตนได้ไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของสินเชื่อทั้งหมด ปล่อยเงินกู้ให้ลูกค้ารายหนึ่งต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของสินเชื่อทั้งหมด สามารถเป็นตัวแทนให้บริการโอนเงินภายในประเทศ และเป็นตัวแทนให้แก่บริษัทประกันภัยได้ ๒) สถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับเงินฝาก คือ สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้และระดมทุนในรูปแบบการกู้ยืมหรือช่วยเหลือแบบให้เปล่าทั้งจากภายในและต่างประเทศและดำเนินกิจการอื่น ๆ ตามที่กำหนด และ ๓) โครงการการเงินจุลภาค คือ กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ธนาคารหมู่บ้าน หรือโครงการอื่น ๆ ที่ดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายกับการเงินจุลภาคซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มประชาชน นิติบุคคลหรือบุคคลเป็นผู้ให้ทุน