การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟสองฝั่งโขง

การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟสองฝั่งโขง

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ก.ย. 2567

| 427 view

          เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๗ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟระหว่างผู้ประกอบการกาแฟแขวงสะหวันนะเขตกับจังหวัดมุกดาหาร โดยร่วมกับภาคเอกชนจังหวัดมุกดาหารกลุ่มหมู่ช่วน - Mutual จัดกิจกรรม “สนิทกัน Part.2 - มิตรภาพ 2” ณ ร้าน Tabebuya Café & Tree จังหวัดมุกดาหาร ประกอบด้วย การเสวนา “กาแฟในปัจจุบัน” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาจาก สปป. ลาว คือ นายกายเพชร สีแพงไซ บาริสต้าและคนคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ Black Coffee แขวงสะหวันนะเขต และจากประเทศไทย คือ นายกฤช จันทรสาขา ผู้ประกอบการร้านกาแฟ Hungry Bear - coffee society - จังหวัดมุกดาหาร และการเสวนาในหัวข้อ “กาแฟและสุขภาพ” โดยแพทย์หญิง อัมพิกา เพ็ชรไทย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พริ้นซ์ มุกดาหาร ซึ่งกิจกรรมฯ ได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีผู้ประกอบการด้านอาหารและกาแฟทั้งจากประเทศไทยและ สปป. ลาว ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน

          โอกาสนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกาแฟแขวงสะหวันนะเขต จำนวน ๑๗ คน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ซึ่งมีตัวแทนผู้ประกอบการกาแฟที่มีชื่อเสียงของแขวงฯ จำนวน ๔ ร้าน ประกอบด้วย ร้าน Huk Film story ร้าน Black Coffee ร้าน Send.coffee และร้าน Salon Cafe ร่วมจำหน่ายกาแฟและเมล็ดกาแฟในงานดังกล่าว ซึ่งเป็นโอกาสในการพบปะ แลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และสร้าง Community ระหว่างผู้ประกอบการและนักชิมกาแฟของจังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขตด้วย

          การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดการจัดกิจกรรมเสวนาด้านกาแฟและการแข่งขันชงกาแฟ Brew Battle ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ ร่วมกับผู้ประกอบการกาแฟลาวกลุ่ม Lao Slow Bar Barista จัดที่โรงหนังลาวจะเลิน แขวงสะหวันนะเขต ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๗ และสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายในการซื้อขายกาแฟโดยตรงจากเกษตรกร (Direct Trade Coffee) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกาแฟของประเทศไทยและ สปป. ลาว ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของ สปป. ลาว และเป็นแหล่งนำเข้ากาแฟที่สำคัญของประเทศไทย ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนสองฝั่งโขง เชื่อมโยงงานศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายให้เข้าถึงกัน โดยใช้กาแฟเป็นสื่อกลาง

 

1

2   3   4   5   6   7   8   9_(2)   10   11   12   13   14   15   16   17   18   19   20