ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงสาละวันปี ๒๕๖๕ ขยายตัวร้อยละ ๔.๖

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงสาละวันปี ๒๕๖๕ ขยายตัวร้อยละ ๔.๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 เม.ย. 2566

| 1,144 view

          ในปี ๒๕๖๕ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงสาละวันมีอัตราการขยายตัวร้อยละ ๔.๖ คิดเป็นมูลค่า ๕,๘๕๔ พันล้านกีบ (ประมาณ ๑๑,๔๗๘ ล้านบาท) โดยมาจาก

          (๑) ภาคการเกษตร ๒,๘๗๒ พันล้านกีบ (ประมาณ ๕,๖๓๑ ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๐ คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๐๗ ของ GDP 

          (๒) ภาคบริการ ๑,๖๐๙ พันล้านกีบ (ประมาณ ๓,๑๕๕ ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๖ คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๔๘ ของ GDP

          (๓) ภาคอุตสาหกรรม ๑,๓๗๓ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒,๖๙๒ ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๔ คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๔๕ ของ GDP

         รายได้เฉลี่ยของประชากรแขวงฯ คิดเป็นมูลค่า ๗๗๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แขวงฯ มีการลงทุนภายในมูลค่ารวม ๑,๑๘๖.๓๕ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒,๓๒๖ ล้านบาท) ประกอบด้วย การลงทุนภาครัฐ ๑๐๕ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒๐๖ ล้านบาท) ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ๑๕๔.๓๗ พันล้านกีบ (ประมาณ ๓๐๓ ล้านบาท) การลงทุนของภาคเอกชนภายในและต่างประเทศ ๓๗๔.๙๘ พันล้านกีบ (ประมาณ ๗๓๕ ล้านบาท) และการลงทุนจากแหล่งทุนอื่น ๆ ๕๕๒ พันล้านกีบ (ประมาณ ๑,๐๘๒ ล้านบาท) ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๕ แขวงฯ สามารถจัดเก็บรายได้จำนวน ๑๕๓.๕๔ พันล้านกีบ (ประมาณ ๓๐๑ ล้านบาท) ขณะที่มีรายจ่าย ๔๒๕.๙๓ พันล้านกีบ (ประมาณ ๘๓๕ ล้านบาท)

          การนำเข้า - ส่งออกสินค้าของแขวงฯ ในปี ๒๕๖๕ มีมูลค่ารวม ๒๐๕.๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น การนำเข้ามูลค่าประมาณ ๔๒.๐๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยนำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด (ร้อยละ ๘๖.๖) และไทย (ร้อยละ ๑๓.๔) ขณะที่การส่งออกมีมูลค่าประมาณ ๑๖๓.๔๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง กาแฟ ยางพารา กล้วย ผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูป ถ่านขาวสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์จากป่า โดยส่งออกไปยังไทยมากที่สุด (ร้อยละ ๖๘.๖๑ คิดเป็นมูลค่า ๑๑๒.๑๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย

          ในปี ๒๕๖๕ แขวงสาละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม ๙๗,๐๘๓ คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ ๗.๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันแขวงฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวอุทยานพูผาสุก บึงหล่มโลก น้ำตกตาดเลาะ - ตาดฮัง ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ แขวงฯ ลงนามบันทึกความเข้าใจในการร่วมมือกับบริษัท พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว น้ำตกตาดเยือง จำกัด (Phathana Tad Ngeuang Waterfall Company) ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกตาดสูงและถ้ำเก้ารูพูตากข้าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบประชาชนมีส่วนร่วม และขยายตลาดดึงดูดการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างงานและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนภายในแขวงฯ

lalai

ที่มาภาพ (ด่านสากลละไลแขวงสาละวัน) - หนังสือพิมพ์สาละวัน

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ข่าว BIC สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต)

          ๑. พืชเศรษฐกิจของ สปป. ลาว: แขวงสาละวันปลูกและมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในแขวงทางใต้
<https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/cassavainsouthernlaos2023>

          ๒. ร้านกาแฟ Tad Gneung Paradise Coffee จากแขวงจำปาสักเปิดสาขาแรกในจีนที่นครกว่างโจว และตั้งเป้าหมายขยายสาขาให้ครบทุกมณฑลของจีนในปี ๒๕๖๗ <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/tadgneungparadisecoffeefromchampasaktoguangzhou>

 

แหล่งอ้างอิง

๑. แผนกแผนการและการลงทุนแขวงสาละวัน (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของแขวงสาละวัน และสถิติด้านท่องเที่ยว ปี ค.ศ. ๒๐๒๒) ขอรับข้อมูลวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖

๒. แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงสาละวัน (การนำเข้า - ส่งออกสินค้าของแขวงสาละวันปี ค.ศ. ๒๐๒๒) ขอรับข้อมูลวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖

๓. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า ประจำวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๓

๔. หนังสือพิมพ์สาละวัน ประจำวันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://mediasalavan.com/?p=9780&fbclid=IwAR0zvgfOEeyvUR7EeJdSe_eYo4zlKG55tH2av1x6CN8Exx8JEr7rjCIBaI4>

๕. หนังสือพิมพ์สาละวัน ประจำวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://mediasalavan.com/?p=9631&fbclid=IwAR0eVS7K54qH3F6CHGb1FF88j-5DEU734mvSE85_PJ5WLlPIgp-s2A_0pO4 >

๖. หนังสือพิมพ์สาละวัน ประจำวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://mediasalavan.com/?p=9591>

๗. หนังสือพิมพ์สาละวัน ประจำวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ <https://mediasalavan.com/?p=8161>

* หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๕๑๐ กีบ

**************