พืชเศรษฐกิจของ สปป. ลาว: แขวงสาละวันปลูกและมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในแขวงทางใต้

พืชเศรษฐกิจของ สปป. ลาว: แขวงสาละวันปลูกและมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในแขวงทางใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.พ. 2566

| 3,066 view

          ในปี ๒๕๖๔ การปลูกมันสำปะหลังในแขวงทางตอนใต้ของ สปป. ลาว มีพื้นที่รวม ๕๘,๗๙๕ เฮกตาร์ (ประมาณ ๓๖๗,๔๖๙ ไร่) ได้ผลผลิตรวม ๑,๙๑๔,๐๘๑ ตัน ประกอบด้วย

          (๑) แขวงสาละวัน มีพื้นที่ปลูก ๒๖,๑๕๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๑๖๓,๔๓๘ ไร่) ได้ผลผลิต ๘๑๐,๓๒๐ ตัน
          (๒) แขวงจำปาสัก มีพื้นที่ปลูก ๑๔,๑๔๒ เฮกตาร์ (ประมาณ ๘๘,๓๘๘ ไร่) ได้ผลผลิต ๔๙๐,๖๒๐ ตัน
          (๓) แขวงเซกอง มีพื้นที่ปลูก ๗,๖๑๕ เฮกตาร์ (ประมาณ ๔๗,๕๙๔ ไร่) ได้ผลผลิต ๒๕๐,๖๑๐ ตัน
          (๔) แขวงอัดตะปือ มีพื้นที่ปลูก ๔,๖๑๘ เฮกตาร์ (ประมาณ ๒๘,๘๖๓ ไร่) ได้ผลผลิต ๑๖๑,๕๑๓ ตัน
          (๕) แขวงสะหวันนะเขต มีพื้นที่ปลูก ๔,๑๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๒๕,๖๒๕ ไร่) ได้ผลผลิต ๑๓๐,๒๐๐ ตัน
          (๖) แขวงคำม่วน มีพื้นที่ปลูก ๒,๑๗๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๑๓,๕๖๓ ไร่) ได้ผลผลิต ๗๐,๘๑๘ ตัน

          อย่างไรก็ดี ราคารับซื้อมันสำปะหลังยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละแขวง จากข้อมูลราคารับซื้อมันสำปะหลังแห้งในแขวงทางใต้ของ สปป. ลาว ประจำวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ ของบริษัทเอกชนลาว AIDC Trading Sole Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่มีจุดรับซื้อมันสำปะหลังมากถึง ๓๔ แห่งในแขวงต่าง ๆ ของ สปป. ลาว ระบุว่า ราคารับซื้อมันสำปะหลังแห้งที่แขวงสะหวันนะเขตมีราคาสูงที่สุดในแขวงทางตอนใต้ โดยรับซื้อที่กิโลกรัมละ ๓,๖๐๐ กีบ (ประมาณ ๗ บาท) ขณะที่ราคารับซื้อในแขวงจำปาสัก แขวงสาละวัน แขวงเซกอง แขวงอัดตะปือ และแขวงคำม่วน อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ ๓,๑๕๐ - ๓,๖๐๐ กีบ (ประมาณ ๖ - ๗ บาท)

          มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของ สปป. ลาว ที่มีศักยภาพและสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ในปี ๒๕๖๕ สปป. ลาว ส่งออกมันสำปะหลังมูลค่า ๓๐๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ ๓ รองจากยางพาราและเยื่อกระดาษ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และจีน ทั้งนี้ การปลูกมันสำปะหลังใน สปป. ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นของอุตสาหกรรมแปรรูปในการผลิตสินค้า อาทิ ยา อาหารคนและสัตว์ สารให้ความหวาน เครื่องนุ่งห่ม และกระดาษ โดยในปี ๒๕๕๘ สปป. ลาว มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ ๔๕,๐๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๒๘๑,๒๕๐ ไร่) ได้ผลผลิตประมาณ ๑.๕๑ ล้านตัน และในปี ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๑๓,๔๕๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๗๐๙,๐๖๓ ไร่) ได้ผลผลิต ๓.๗๑ ล้านตัน ปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๓๐ ตันต่อเฮกตาร์ (๖.๒๕ ไร่) โดยยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน อาทิ การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังและการรักษาคุณภาพดินเพื่อให้สามารถผลิตมันสำปะหลังได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยแป้ง และโรคใบด่าง

 

aidc1

aidc2

ที่มาภาพ: Facebook - AIDC Trading

 

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

๑. โครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดใน สปป. ลาว ที่เมืองบาเจียงจะเลินสุก แขวงจำปาสัก <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/aidcchampasak>

๒. กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว เปิดศูนย์ผลิตพันธุ์มันสำปะหลังที่เมืองเล่างาม แขวงสาละวัน และห้องเย็นเก็บรักษาผักสดเพื่อส่งออกที่นครปากเซ แขวงจำปาสัก <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/cleansalavanchampasak>

 

แหล่งอ้างอิง

๑. สำนักข่าววิทยุ Radio Free Asia ประจำวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓

<https://www.rfa.org/lao/daily/economy/cassava-farms-in-laos-urged-govt-help-solve-lower-price-of-cassava-01192023193611.html?fbclid=IwAR0HRKTbKAUHfBotBrocVVfQmSoVuKhke3Wd3ZukQjhA0pzsrxchTPoEiK8&mibextid=Zxz2cZ>

๒. หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ประจำวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓

<https://www.laophattananews.com/archives/151132?fbclid=IwAR0x2zupSsp5MewFnSPSZL3TmbyMxE0xxbXH-DQNPsfv0rzz7inHMfNbNV8>

๓. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้าของ สปป. ลาว ประจำวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒

<https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=2583>

๔. สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ประจำวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๕ <https://vientiane.thaiembassy.org/2022/09/6017/>

๕. Facebook: AIDC Trading ประจำวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๓ (อัพเดทราคามันสำปะหลัง)

๖. กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ (สถิติการเกษตรประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑) สืบค้นวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖

                

*หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๕๑๐ กีบ / พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่