การลงทุนปลูกทุเรียนในแขวงทางตอนใต้ของ สปป. ลาว

การลงทุนปลูกทุเรียนในแขวงทางตอนใต้ของ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.พ. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ก.พ. 2568

| 179 view

                ปัจจุบันการลงทุนปลูกทุเรียนในพื้นที่แขวงทางตอนใต้ของ สปป. ลาว (แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ) ได้รับความนิยมโดยมีปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ลักษณะภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของ สปป. ลาว และพื้นที่ภูเขาสูงบริเวณชายแดนติดกับเวียดนาม รวมทั้งที่ราบสูง อาทิ ที่ราบสูงนากายของแขวงคำม่วน และที่ราบสูงบอละเวนของแขวงจำปาสักที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภูเขาไฟเก่า มีธาตุอาหารในดินที่เหมาะกับการทำการเกษตร (2) ความต้องการทุเรียนของตลาดจีนในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และ (3) การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งของ สปป. ลาว ที่ได้รับการพัฒนา อาทิ รถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป. ลาว - จีน ส่งผลให้ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจการปลูกทุเรียนใน สปป. ลาว เพื่อการส่งออก โดยมีตัวอย่างการลงทุนปลูกทุเรียนในพื้นที่แขวงทางตอนใต้ของ สปป. ลาว ดังนี้

                1. แขวงจำปาสัก

                   1.1 บริษัทเอกชนจีน Jinguo Lao Agriculture Development Sole Co., Ltd. จดทะเบียนใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ลงทุนปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิง ที่บ้านหลัก 35 เมืองปากซอง โดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 1,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 6,250 ไร่) และมีทุเรียนที่ปลูกแล้วประมาณ 50,000 ต้น ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้แล้วบางส่วน

                   1.2 บริษัทเอกชนเวียดนาม Agricultural Development - Daithang Co., Ltd. เป็นบริษัทในเครือบริษัท Hoang Anh Gia Lai Joint Stock Company หรือ HAGL Group ของเวียดนาม จดทะเบียนใน สปป. ลาว เมื่อปี 2559 เพื่อลงทุนเลี้ยงวัวนม แพะ ปลูกพืชอาหารสัตว์ กาแฟ พริกไทย และผลไม้ อาทิ ทุเรียน สับปะรด อะโวคาโด เสาวรส และมังคุด เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก มูลค่าการลงทุน 13.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในพื้นที่บ้านเขืองน้อย บ้านห้วยกอง บ้านพะนวนดง และบ้านห้วยจอด เมืองปากซอง  แขวงจำปาสัก ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการเกษตรบนพื้นที่ประมาณ 1,705 เฮกตาร์ (ประมาณ 10,656.25 ไร่) ประกอบด้วย พื้นที่ปลูกทุเรียน 650 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,062.5 ไร่) แมคคาเดเมีย 455 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,843.75 ไร่) กล้วย 450 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,812.5 ไร่) และอะโวคาโด 150 เฮกตาร์ (ประมาณ 937.5 ไร่)

                   1.3 บริษัทเอกชนลาว Kimngan Agricultural Development Import - Export  Co., Ltd. ลงทุนปลูกทุเรียนที่บ้านหลัก 24 เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก โดยช่วงเริ่มต้นได้ทดลองปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองจำนวน 300 ต้น บนพื้นที่ 15 เฮกตาร์ (ประมาณ 93.75 ไร่) ต่อมาเมื่อความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มอีกกว่า 200 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,250 ไร่) ปัจจุบันยังจำหน่ายต้นพันธุ์ทุเรียน ให้คำปรึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกทุเรียนกับผู้สนใจ โดยบริษัทฯ คาดว่าในปี 2568 จะสามารถส่งออกทุเรียนไปจำหน่ายที่จีนได้

                   1.4 สวนทุเรียนนายสมฮัก สีบุนเฮือง ตั้งอยู่ที่บ้านดงไล่ เมืองบาเจียงจะเลินสุก เริ่มปลูกทุเรียนครั้งแรกเมื่อปี 2554 ปัจจุบันปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พวงมณี มูซานคิง และก้านยาว บนพื้นที่ 5.2 เฮกตาร์ (ประมาณ 32.5 ไร่) จำนวน 861 ต้น เมื่อปี 2567 สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ 40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5.1 พันล้านกีบ (ประมาณ 8.1 ล้านบาท) ในอนาคตจะพัฒนาให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้งและขนม

                   นอกจากนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 - เดือนมกราคม 2568 แผนกแผนการและการลงทุนแขวงจำปาสักลงนามสัญญาสัมปทานและบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการปลูกทุเรียนร่วมกับบริษัทเอกชนเพิ่มเติม ดังนี้

                   1.5 บริษัทเอกชนเวียดนาม Sturgeon Bolaven Paksong Sole Co., Ltd. ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการปลูกทุเรียนและแมคคาเดเมียเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก บนพื้นที่ 150 เฮกตาร์ (ประมาณ 937.5 ไร่) ที่บ้านพะหนวนดง เมืองปากซอง     

                   1.6 บริษัทเอกชนจีน Juyuan Sole Co., Ltd. ลงนาม MoU ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสัมปทานเพื่อปลูกผลไม้ (ทุเรียน) และพืชล้มลุก (พืชตระกูลถั่ว) บนพื้นที่ 124 เฮกตาร์ (ประมาณ 775 ไร่) ที่บ้านเวินแคนและบ้านลวงโซก เมืองมุนละปาโมก

                   1.7 บริษัทเอกชนจีน Lao Yuan Xiu Trading and Transport Co., Ltd. ลงนาม MoU ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสัมปทานเพื่อปลูกทุเรียนและพืชทางการเกษตร บนพื้นที่ 150 เฮกตาร์ (ประมาณ 937.5 ไร่) ที่บ้านส้มโฮง เมืองมุนละปาโมก

 

                2. แขวงอัตตะปือ

                   2.1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 รัฐบาล สปป. ลาว ร่วมกับบริษัทเอกชนจีน Jia Run Agricultural Development Co., Ltd. ลงนาม MoU เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการฟื้นฟูป่าไม้และพัฒนาระบบนิเวศกสิกรรมทันสมัยครบวงจรที่เมืองสะหนามไซ บนพื้นที่ประมาณ 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) ประกอบด้วย เขตฟื้นฟู 751 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,693.75 ไร่) เขตอนุรักษ์ชีวนานาพันธุ์ 499 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,118.75 ไร่) พื้นที่ปลูกไม้สัก 533 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,331.25 ไร่) และปลูกไม้ให้ผล จำนวน 3,152 เฮกตาร์ (ประมาณ 19,700 ไร่) อาทิ ทุเรียน (364 เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,275 ไร่) ส้ม แก้วมังกร ขนุน มังคุด มะม่วง และหมากเคี้ยว และใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักพนักงาน 24 เฮกตาร์ (150 ไร่)

                   2.2 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ร่วมกับกลุ่มบริษัทเอกชนจีน Hongkong Tianchi Group Corporation ลงนาม MoU เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการปลูกไม้อุตสาหกรรมและโครงการผลิตกสิกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบนพื้นที่ 5,100 เฮกตาร์ (31,875 ไร่) ที่บ้านหนองหิน บ้านหนองม่วง และบ้านมัดกา เมืองสะหนามไซ มูลค่าการลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนทั้งหมดและมุ่งเน้นการปลูกผลไม้หลายชนิด อาทิ ทุเรียน กล้วย ส้มโอ และขนุน    

                   2.3 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 แผนกแผนการและการลงทุนแขวงอัตตะปือร่วมกับบริษัทเอกชนลาว Hongphet Chalernkankaseth Sole Co., Ltd. ลงนามสัญญาการพัฒนาโครงการปลูกทุเรียนและพืชทางการเกษตรเพื่อฟื้นฟูป่าบนพื้นที่ 100 เฮกตาร์ (ประมาณ 625 ไร่) ที่บ้านจันตอ เมืองสะหนามไซ

 

                3. แขวงสาละวัน

                    แผนกแผนการและการลงทุนแขวงสาละวันมีการลงนามสัญญาร่วมกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกทุเรียน ดังนี้

                   3.1 บริษัท พอนทิบเจียนตาการเกษตร จำกัด ลงนามเมื่อปี 2563 ดำเนินโครงการส่งเสริมประชาชนปลูกผลไม้ 15 ชนิด ที่เมืองวาปี บนพื้นที่เป้าหมาย 735 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,593.75 ไร่) โดยมีผลไม้เป้าหมายที่ส่งเสริมให้มีการปลูก อาทิ ทุเรียน กล้วย ลำไย เงาะ มะขาม มะม่วง ขนุน และมังคุด มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 102 พันล้านกีบ (ประมาณ 161.9 ล้านบาท) เป็นการลงทุนในรูปแบบ 2+3 (ประชาชนรับผิดชอบที่ดินและแรงงาน ขณะที่บริษัทรับผิดชอบเงินทุน เมล็ดพันธุ์พืช/วิชาการ และการตลาด)

                   3.2 บริษัทเอกชนจีน Tongta Agriculture Development Sole Co., Ltd. ลงนามเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ในสัญญาสัมปทานพื้นที่ 101 เฮกตาร์ (ประมาณ 631.25 ไร่) ที่บ้านดงหน้อง เมืองสาละวัน เพื่อลงทุนปลูกใบยาสูบ ทุเรียน มะม่วงหิมพานต์ และกล้วย เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (2567 - 2597) มูลค่าการลงทุน 8 พันล้านกีบ (ประมาณ 12.7 ล้านบาท)

                   3.3 บริษัท คูนมีไซ ก่อสร้างและซ่อมแซมขัว - ทาง จำกัดผู้เดียว ลงนามเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ในสัญญาสัมปทานเพื่อลงทุนปลูกทุเรียนและอะโวคาโดเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก บนพื้นที่ 150 เฮกตาร์ (ประมาณ 937.5 ไร่) ที่บ้านกะท้าง เมืองสาละวัน แขวงสาละวัน ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (2566 - 2596) มูลค่าการลงทุน 15 พันล้านกีบ (ประมาณ 23.8 ล้านบาท) โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลผลิตทุเรียนได้ในปี 2572

 

                4. แขวงเซกอง

                    บริษัทเอกชนเวียดนาม Khanh Phong - Lao Sole Co., Ltd. ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ตั้งอยู่ที่บ้านหนองนก เมืองท่าแตง ดำเนินกิจการปลูกทุเรียนบนพื้นที่ 50 เฮกตาร์ (ประมาณ 312.5 ไร่) ปัจจุบันมีทุเรียนจำนวน 12,000 ต้น มูลค่าการลงทุนประมาณ 2.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเก็บผลผลิตทุเรียนได้ในปี 2569

 

                5. แขวงสะหวันนะเขต

                    เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ผู้ประกอบการภายในแขวงสะหวันนะเขตเข้าร่วมประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนเพื่อการจำหน่ายเป็นสินค้า ที่สโมสรแผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีการนำเสนอเกี่ยวกับวิธีการปลูกทุเรียน การเข้าถึงแหล่งทุนและตลาด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนที่แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งศักยภาพที่สำคัญของแขวงฯ ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียนของนายสุพัน แก้วมีไซ อดีตเจ้าแขวงสะหวันนะเขตและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ที่บ้านโพนสิม และสวนทุเรียนนายสมจิด ที่บ้านสมสะอาด นครไกสอนพมวิหาน ซึ่งเริ่มปลูกทุเรียนแล้วในลักษณะสวนขนาดเล็ก

 

                6. แขวงคำม่วน

                    บริษัทเอกชนจีน Khammuan Import - Export Co., Ltd. ตั้งอยู่ที่บ้านนากะตัง เมืองยมมะลาด บนพื้นที่สัมปทาน 600 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,750 ไร่) มูลค่าการลงทุนประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2566 ในการเลี้ยงวัวสายพันธุ์บราห์มันและสายพันธุ์พื้นเมือง การปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ปลูกข้าว และผลไม้ อาทิ ทุเรียน มะพร้าว อะโวคาโด และส้ม รวมถึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงวัวแบบครบวงจร เพื่อผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ในการตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออก

                    อนึ่ง บทสัมภาษณ์นายบุนจัน กมบุนยาสิด หัวหน้ากรมปลูกพืช กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์ประชาชนฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายในการปลูกผลผลิตทางการเกษตรใน สปป. ลาว เพื่อทดแทนการนำเข้า ดังนี้

                    1) ทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนผลิตเป็นสินค้าเช่นเดียวกับข้าว กาแฟ ชา ผลไม้อื่น ๆ และพืชล้มลุก (อาทิ ถั่ว, แตงโม) ปัจจุบันพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนใน สปป. ลาว มีประมาณ 5,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 31,250 ไร่) ซึ่งปลูกมากที่สุดในพื้นที่ที่ราบสูงบอละเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ปัจจุบันการปลูกทุเรียนใน สปป. ลาว มีจำนวน 18 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทเอกชนจีน 12 บริษัท (มีพื้นที่รวมประมาณ 3,200 เฮกตาร์ (ประมาณ 20,000 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 64.28) ตามด้วยบริษัทเอกชนเวียดนาม 2 บริษัท (มีพื้นที่รวมประมาณ 1,250 เฮกตาร์ (ประมาณ 7,812.5 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 25.11) บริษัทเอกชนลาว 4 บริษัท (มีพื้นที่รวมประมาณ 416 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,600 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 8.36) และการปลูกของประชาชนในท้องถิ่น (พื้นที่รวมประมาณ 112 เฮกตาร์ (ประมาณ 700 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 2.25)

                    2) สปป. ลาว ขาดแคลนพันธุ์พืชและผลไม้ต่าง ๆ รวมทั้งทุเรียน ซึ่งที่ผ่านมาการปลูกทุเรียนลาวโดยใช้สายพันธุ์ดั้งเดิมมีข้อบกพร่องคือ ได้ผลผลิตน้อย คุณภาพไม่ดี มีเมล็ดใหญ่ เนื้อน้อย ไม่หอม กอปรกับในระยะที่ผ่านมามีการปลูกทุเรียนจำนวนไม่มากโดยจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่ราบสูงบอละเวนในแขวงตอนใต้เท่านั้น ทั้งนี้ ยังขาดแคลนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชที่ไม่มีสารพิษตกค้าง

 

 

10_1

101  

สวนทุเรียนนายสมฮัก สีบุนเฮือง ตั้งอยู่ที่บ้านดงไล่ เมืองบาเจียงจะเลินสุก แขวงจำปาสัก

ที่มาภาพ: Facebook: Southerners News Center

 

1011   1012  

พิธีลงนามสัญญาสัมปทานโครงการปลูกทุเรียนและแมคคาเดเมียของบริษัทเอกชนเวียดนาม Sturgeon Bolaven Paksong Sole Co., Ltd. 
ที่มาภาพ: Facebook: Champamai Newspaper

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ข่าว BIC สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต)

  1. บริษัทเอกชนเวียดนาม Khanh Phong-Lao Sole Co., Ltd. ลงทุนปลูกทุเรียนที่เมืองท่าแตง แขวงเซกอง <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/bic-26-10-66>
  1. บริษัทเอกชนลาวที่เมืองปากซอง แขวงจำปาสักจะส่งออกทุเรียนไปยังจีนในปี 2568 <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/champasakduriantochina>
  1. การลงทุนขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรของเวียดนามที่เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก: บริษัท Agricultural Development - Daithang Co., Ltd.<https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/agriculturaldevelopmentdaithangchampasakdurian>
  1. กลุ่มบริษัทจีนลงนามบันทึกความเข้าใจในการสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการปลูกไม้อุตสาหกรรม และโครงการผลิตกสิกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัดตะปือ <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/hongkongtianchigroupcorporationinvestmentattapue?>
  1. แขวงอัตตะปือประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโครงการส่งเสริมการฟื้นฟูป่าไม้และพัฒนาระบบนิเวศกสิกรรมของบริษัทเจี่ยลันพัฒนากสิกรรมจำกัด <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/15072564-attapeu>
  1. บริษัทพอนทิบเจียนตาลงทุน ๑๐๒ พันล้านกีบเพื่อปลูกผลไม้ที่แขวงสาละวัน <https://shorturl.asia/t9wqM>

แหล่งอ้างอิง

  1. Champamai Newspaper ประจำวันที่ 3 และ 15 มกราคม ค.ศ. 2025
  2. Southerners News Center ประจำวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025
  3. farmlandgrab.org ประจำวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2024 <https://www.farmlandgrab.org/post/32461-laos-durian-dreams-grow-as-plantations-rise-to-feed-china>
  4. Lao Nationnal Radio ประจำวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2025 และ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2024
  5. Lao Economic Daily ประจำวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2024
  6. หนังสือพิมพ์สาละวัน ประจำวันที่ 3 ตุลาคม และ 13 กันยายน ค.ศ. 2024
  7. Savanhphathana News ประจำวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2024
  8. Patedlao ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024
  9. หนังสือพิมพ์ประชาชน ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 <https://www.facebook.com/PasaxonNewspaper/posts/pfbid022tPLAppjexLC43qVSwkhBJvdUqcT79RZAwPtCrYQeyxfxpbvpexgpnfD88oFFdP4l>
  10. Lao Economic Daily ประจำวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 <https://www.facebook.com/Laoedaily/videos/9157579414288225>

 

*หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 630 กีบ / พื้นที่ 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่

**************