วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 มี.ค. 2566
แขวงสะหวันนะเขตเป็นแขวงที่มีพื้นที่มากที่สุดใน สปป. ลาว และมีนโยบายผลักดันการปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก โดยในปี ๒๕๖๗ แขวงฯ คาดว่าจะส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่รวม ๕๕,๐๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๓๔๓,๗๕๐ ไร่) และตั้งเป้าหมายผลิตมันสำปะหลังให้ได้ ๘๘๐,๐๐๐ ตัน
นายลัดตะนะ ไซสมบัด หัวหน้าแขนงปลูกพืช แผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต ระบุว่าในช่วงปี ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ แขวงฯ มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตมันสำปะหลังโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี ๒๕๖๔ แขวงฯ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ๗,๔๓๘ เฮกตาร์ (ประมาณ ๔๖,๔๘๘ ไร่) ผลผลิตมันสำปะหลังดิบ ๑๑๙,๐๑๐ - ๒๒๓,๑๔๐ ตัน (ผลผลิตเฉลี่ย ๑๖ - ๒๐ ตันต่อเฮกตาร์) ต่อมาในปี ๒๕๖๕ สามารถผลิตมันสำปะหลังดิบได้จำนวน ๔๘๘,๑๖๗ ตัน (ผลผลิตเฉลี่ย ๒๐ ตันต่อเฮกตาร์) โดยมีราคามันสำปะหลังดิบภายในแขวงฯ เฉลี่ย ๑,๒๐๐ กีบ (ประมาณ ๒.๔ บาท) ต่อกิโลกรัม ราคามันสำปะหลังแห้งสับเฉลี่ย ๓,๕๐๐ กีบ (ประมาณ ๗ บาท) ต่อกิโลกรัม และลานรับซื้อภายในแขวงฯ จำนวน ๒๗ แห่ง[๑]
นอกจากนี้ มีบริษัทเอกชนเวียดนาม Sepone Tapioca Starch Processing Sole Co., Ltd. เข้ามาลงทุนดำเนินกิจการรับซื้อมันสำปะหลังดิบและจัดตั้งโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่เมืองเซโปน เพื่อส่งออกแป้งมันสำปะหลังจำหน่ายไปยังจีน เวียดนาม และไต้หวัน โดยมีกำลังการผลิต ๕๐ ตันต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๔ บริษัทฯ สามารถส่งออกแป้งมันสำปะหลังจำนวน ๑๙,๘๕๔ ตัน มูลค่า ๙.๒๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ส่งออกไปยังเวียดนาม ๕,๒๓๐ ตัน มูลค่า ๒.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน ๑๔,๖๒๔ ตัน มูลค่า ๗.๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี ๒๕๖๕ สามารถส่งออกได้จำนวน ๑๕,๗๕๓ ตัน มูลค่า ๗.๕๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ส่งออกไปยังเวียดนาม ๖,๘๔๙ ตัน มูลค่า ๓.๒๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน ๘,๙๐๔ ตัน มูลค่า ๔.๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แขวงฯ ยังเผชิญปัจจัยและความท้าทายในการผลิตและส่งออกมันสำปะหลัง อาทิ ความผันผวนของราคามันสำปะหลังทั้งภายในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคศัตรูพืช ตลอดจนการขาดองค์ความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาพันธุ์ นอกจากนี้ ยังไม่มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร การปลูกมันสำปะหลังกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แหล่งทุน การตลาด และการแปรรูปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนและเขตหวงห้ามของรัฐ
ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์ประชาชน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ข่าว BIC สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต)
พืชเศรษฐกิจของ สปป. ลาว: แขวงสาละวันปลูกและมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในแขวงทางใต้ <https://savannakhet.thaiembassy.org/th/content/cassavainsouthernlaos2023?cate=5d849c1415e39c26b4003bcb>
แหล่งอ้างอิง
๑. หนังสือพิมพ์ประชาชนประจำวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๓ <http://www.pasaxon.org.la/pasaxon-detail.php?p_id=82903&act=most_popular-detail>
๒. ข้อมูลสมาชิกสภาการค้าและอุตสาหกรรมแขวงสะหวันนะเขต (บริษัท Sepone Tapioca Starch Processing Sole Co., Ltd.)
*หมายเหตุ พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่ / อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๕๐๐ กีบ
**************
[๑] บริษัทที่รับซื้อและส่งออกมันสำปะหลังของแขวงสะหวันนะเขต อาทิ (๑) บริษัท แดนสะหวัน ทับทิมฟาร์ม ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว (๒) บริษัท มุกดาจะเลินสิน การค้า ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว (๓) บริษัท หงเวียนเตินถัน ขาเข้า-ขาออก จำกัดผู้เดียว (๔) บริษัท สายสะไหม ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว (๕) บริษัท วังวัดทะนา การค้า จำกัดผู้เดียว และ (๖) บริษัท สะหวันเอโก้ การค้า ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว