สถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลบุญมโหฬารกาแฟ-ชา พูเพียงบอละเวน และพิธีเปิดอุทยานแห่งชาติดงหัวสาว และอุทยานแห่งชาติเซเปียน ปี ค.ศ. ๒๐๒๒

สถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลบุญมโหฬารกาแฟ-ชา พูเพียงบอละเวน และพิธีเปิดอุทยานแห่งชาติดงหัวสาว และอุทยานแห่งชาติเซเปียน ปี ค.ศ. ๒๐๒๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 959 view

          เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลบุญมโหฬารกาแฟ-ชา พูเพียงบอละเวน และพิธีเปิดอุทยานแห่งชาติดงหัวสาวและอุทยานแห่งชาติเซเปียน ปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ณ โรงแรมเอละวัน นครปากเซ แขวงจำปาสัก โดยมีผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาล สปป. ลาวเข้าร่วม อาทิ พลเอกจันสะหมอน จันยาลาด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ นางนาลี สีสุลิด ภริยาประธานประเทศ นายบัวสอน บุบผาวัน อดีตนายกรัฐมนตรี ดร. เพ็ด พมพิทัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ นายบุนเถิง ดวงสะหวัน รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เจ้าแขวงและผู้แทนใน ๔ แขวงลาวใต้ ได้แก่ สาละวัน จำปาสัก เซกอง และอัดตะปือ

          การจัดงานเทศกาลครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สรรหาตลาด สร้างการรับรู้ และส่งเสริมการส่งออกชาและกาแฟซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของแขวงจำปาสัก สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น โดยใน ปี ๒๕๖๔ แขวงจำปาสักส่งออกสินค้ามีมูลค่าทั้งหมด ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย การส่งออกชาและกาแฟ มูลค่า ๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ ๒๓.๓ ของการส่งออกทั้งหมด) ไปยัง ๒๐ ประเทศ ทั้งนี้ ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายชาและกาแฟ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์จากบริษัทปากซองไฮแลนด์ซึ่งเป็นกิจการของคนไทย สินค้าพื้นเมืองของ ๔ แขวงลาวใต้ การสัมมนาหารือสภาพการผลิตชาและกาแฟและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเชื่อมโยงชาและกาแฟกับการท่องเที่ยว

          นอกจากนี้ ยังได้มีพิธีเปิดอุทยานแห่งชาติดงหัวสาวและอุทยานแห่งชาติเซเปียนซึ่งตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก โดยอุทยานแห่งชาติดงหัวสาวมีความโดดเด่นในเรื่องทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม ขณะที่อุทยานแห่งชาติเซเปียนมีความหลายหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า การเปิดอุทยานทั้งสองแห่งเพื่อส่งเสริมการรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางธรรมชาติ การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาชนบทให้อาศัยอยู่กับป่าไม้อย่างยั่งยืน การวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่และสร้างจิตสำนึกชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

* * * * * * * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ