ปี ๒๕๖๔ สปป. ลาว ส่งออกกาแฟมูลค่ากว่า ๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปี ๒๕๖๔ สปป. ลาว ส่งออกกาแฟมูลค่ากว่า ๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,342 view

         ที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) เป็นเขตดินภูเขาไฟในแขวงภาคใต้ของ สปป. ลาว ที่มีชื่อเสียงในการปลูกกาแฟ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการค้าของ สปป. ลาว กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่า ในปี ๒๕๖๔ สปป. ลาว ส่งออกกาแฟที่ยังไม่ได้รับการแปรรูปมูลค่าประมาณ ๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนมากเป็นการส่งออกกาแฟผ่านสมาคมกาแฟลาว (Lao Coffee Association: LCA) คิดเป็นมูลค่ารวม ๗๑,๗๒๖,๒๗๔.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน ๓๐,๑๐๒.๕ ตัน ประกอบด้วย กาแฟ Arabica ๒๒,๑๘๒.๐๑ ตัน กาแฟ Robusta ๕,๒๓๐.๕๔ ตัน กาแฟ Excelsa ๒๒๓.๔ ตัน กาแฟคั่ว ๓๘๖.๒๔ ตัน กาแฟปรุงสำเร็จ ๒,๑๐๑.๑๗ ตัน และกาแฟสำเร็จรูป ๔๔.๑๔ ตัน โดยส่งออกไป ๕ ลำดับแรก ได้แก่ (๑) เวียดนาม ๑๕,๘๓๔.๐๗ ตัน มูลค่า ๓๒,๒๘๗,๕๒๓.๓๙ ดอลลาร์สหรัฐ (๒) ไทย ๖,๕๐๓.๙๕ ตัน มูลค่า ๒๖,๙๐๘,๘๒๘.๓๒ ดอลลาร์สหรัฐ (๓) เยอรมนี ๑,๒๙๗.๐๑ ตัน มูลค่า ๓,๖๒๑,๓๙๓.๘๙ ดอลลาร์สหรัฐ (๔) เบลเยียม ๙๐๗.๒๐ ตัน มูลค่า ๒,๖๘๒,๒๘๘ ดอลลาร์สหรัฐ และ (๕) ไต้หวัน ๔๑๓.๔๓ ตัน มูลค่า ๘๘๙,๑๒๒.๕ ดอลลาร์สหรัฐ

         แม้ว่าที่ผ่านมากาแฟจะเป็นสินค้าส่งออกหลักของ สปป. ลาว ที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นและสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ แต่ผลผลิตกาแฟลาวมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ นายสีสะหนุก สีสมบัด ประธานที่ปรึกษาสมาคมกาแฟลาวและผู้ก่อตั้งบริษัท สีหนุก จำกัด (Sinouk Coffee Co., Ltd) คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๖๕ การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะลดลงจากปี ๒๕๖๔ ร้อยละ ๓๐ การส่งออกกาแฟลาวผ่านสมาคมกาแฟลาวจะลดลงเหลือ ๒๐,๐๐๐ ตัน เนื่องจากความผันผวนของราคากาแฟในตลาดโลก กอปรกับในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาราคากาแฟตกต่ำรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแมลงศัตรูพืช จึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน อาทิ มันสำปะหลังและยางพาราที่ใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้นกว่า

         อย่างไรก็ดี ปี ๒๕๖๕ เป็นปีทองของกาแฟลาวที่เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่จับตามองของตลาดกาแฟโลกและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยปัจจุบันราคากาแฟ Robusta ที่ผลิตใน สปป. ลาว เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๕ (จาก ๓,๒๐๐ กีบ/กิโลกรัม หรือ ๙ บาท/กิโลกรัม เป็น ๙,๓๐๐ กีบ/กิโลกรัม หรือ ๒๖.๕ บาท) เนื่องจากผู้ผลิตกาแฟในหลายประเทศทั่วโลกไม่สามารถผลิตกาแฟได้ตามปกติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

          แหล่งอ้างอิง

          ๑. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า (สกผ. เผยส่งออกกาแฟน้อยแต่ผลตอบแทนสูง) วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ <http://www.sethakit-psx.la/detail9952.html>

          ๒. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า (ลาวสูญเสียพื้นที่ปลูกกาแฟ) วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ <http://www.sethakit-psx.la/detail10000.html>

          ๓. กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว (สถิติการส่งออกสินค้าของ   สปป. ลาว แบ่งตามประเทศและหมวดสินค้า ค.ศ. ๒๐๒๐) สืบค้นวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ <https://dimex.moic.gov.la/attachments/article/62/Export%20by%20countries+products.pdf >

          ๔. กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว (สถิติการส่งออกสินค้าของ   สปป. ลาว แบ่งตามหมวดสินค้า ค.ศ. ๒๐๒๐) สืบค้นวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ <https://dimex.moic.gov.la/attachments/article/62/Export%20by%20products.pdf>

          ๕. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการค้าของ สปป. ลาว กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว (มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของ สปป. ลาว ประจำเดือน มกราคม - ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๒๑ กาแฟ ที่ยังไม่ได้รับการแปรรูป) <https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/index>

          ๖. The Laotian Times (Laos to See Decline in Coffee Exports This Year) วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ <https://laotiantimes.com/2022/01/18/laos-to-see-decline-in-coffee-exports-this-year/>

          ๗. Lao Coffee Association (Market of Lao Coffee Export 01-12/2021) วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕

          * หมายเหตุ พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่

**************