รัฐบาล สปป. ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเหมืองแร่และพลังงาน

รัฐบาล สปป. ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเหมืองแร่และพลังงาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,091 view

          บริษัท  Lane Xang Minerals Limited (LXML) จากประเทศจีน ผู้ลงทุนขุดแร่ทองคำและทองแดงที่เหมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ได้ส่งมอบรายได้ให้แก่รัฐบาล สปป. ลาว ระหว่างปี ๒๕๔๖ - ๒๕๖๓ มูลค่ารวม ๑,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากค่าสัมปทานทรัพยากรแร่ธาตุ ภาษี และเงินปันผลจากกำไร โดยบริษัท LXML สามารถขุด และผลิตทองคำแท่งได้ในปริมาณรวม ๑.๒ ล้านออนซ์ และทองแดงแผ่นอีกกว่า ๑ ล้านตัน ซึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งหมด และในปี ๒๕๖๔ คาดว่าบริษัท LXML จะส่งมอบรายได้ให้แก่รัฐบาล สปป. ลาว มูลค่าประมาณ ๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากส่วนแบ่งการส่งออกทองคำแท่ง  ๒ แสนออนซ์ และทองแดงแผ่นกว่า ๗๒,๐๐๐ ตัน

          ในระยะที่ผ่านมามีการสำรวจพบแร่ธาตุใน สปป. ลาวมากกว่า ๕๗๐ แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า ๑๖๒,๑๐๔ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๖๘ ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทางการลาวอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชนลาวและต่างประเทศแล้ว ๖๔๙ รายใน ๙๔๒ กิจการทั่วประเทศ สำหรับแหล่งผลิตไฟฟ้า ๙๐ แห่งที่มีกำลังการผลิต ๑๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ โดยส่งไปขายให้ประเทศไทย ๕,๖๒๐ เมกะวัตต์ สามารถสร้างรายได้ให้ภาคเหมืองแร่และพลังงานของรัฐบาล สปป. ลาวเพิ่มขึ้น

          นายดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่กล่าวว่า มูลค่าการผลิตของภาคพลังงานและเหมืองแร่ปี ๒๕๖๔ มีมูลค่า ๓๑,๔๖๗ พันล้านกีบ (ประมาณ ๘๙,๙๐๕ ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๓ ร้อยละ ๑๖ แบ่งเป็นภาคพลังงานมูลค่า ๒๐,๖๑๖ พันล้านกีบ (ประมาณ ๕๘,๙๐๓ ล้านบาท) และเหมืองแร่มูลค่า ๑๐,๘๕๑ พันล้านกีบ (ประมาณ ๓๑,๐๐๒ ล้านบาท)

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางใน สปป. ลาว ในปัจจุบัน คือความขัดแย้งเกี่ยวกับการสัมปทานขุดแร่ธาตุระหว่างประชาชนลาวกับภาครัฐและเอกชนผู้ลงทุนในโครงการ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เอกชนลาวได้ขายสัมปทานให้กับนักธุรกิจต่างชาติ เนื่องจากไม่มีเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการขุดแร่ธาตุดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการลาวเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงมีการฟ้องร้องเป็นคดีในศาลและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงประชาชน  ที่อยู่ในเขตสัมปทาน

          เครือข่ายการพัฒนาแบบเปิด (Open Development Network) รายงานว่า ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวได้อนุญาตให้สัมปทานที่ดินกับนักลงทุนลาวและชาวต่างประเทศจำนวน ๑,๗๕๘ โครงการ มีพื้นที่สัมปทานรวม ๑๑,๗๕๔,๔๑๗ เฮกตาร์ แต่จากการสำรวจพบว่านักลงทุนได้มีการใช้ที่ดินจริงในพื้นที่รวม ๕๔๙,๒๔๘ เฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ ๔.๖๗ ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด โดยมีการอนุญาตสัมปทานโดยท้องถิ่น ๑,๓๓๑ โครงการ ซึ่งรัฐบาล สปป. ลาวตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึงและสามารถยึดที่ดินของรัฐที่ถูกยักยอกไปโดยผิดกฎหมายกลับมาได้เพียงประมาณ ๒๐,๐๐๐ เฮกตาร์ สำหรับการก่อสร้างเขื่อนมีการย้ายประชาชนลาวไปอยู่ในเขตจัดสรรใหม่มากกว่า ๑ แสนคน และส่วนใหญ่ยังไม่มีที่ดินทำกินแต่อย่างใด

          แหล่งอ้างอิง

          VOA ภาคภาษาลาว (รัฐบาลลาว ได้รับส่วนแบ่งในมูลค่ารวม ๑,๕๐๐ ล้านดอลลาร์ จากการขุดค้นแร่ธาตุ   เซโปน) <ລັດຖະບານ ລາວ ໄດ້ຮັບສ່ວນແບ່ງໃນມູນຄ່າລວມ 1,500 ລ້ານໂດລາ ຈາກການຂຸດຄົ້ນແຮ່ທາດ ເຊໂປນ (voanews.com)> วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

          หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๓๕๐ กีบ

**************