ข้อควรรู้ในการตั้งโรงงาน ตามข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองโรงงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ฉบับใหม่

ข้อควรรู้ในการตั้งโรงงาน ตามข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองโรงงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ฉบับใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,669 view

         กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ออกข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองโรงงาน เลขที่ ๐๒๖๔/อค.กอห ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๙ เกี่ยวกับการคุ้มครองโรงงานที่ก่อตั้งใน สปป.ลาว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

          ๑. การขอตั้งโรงงาน

                    ๑. ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนวิสาหกิจที่หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า (สำหรับกิจการทั่วไป และกิจการอุตสาหกรรมแปรรูปและหัตถกรรมที่อยู่ในบัญชีต้องขออนุญาต) หรือ ยื่นคำร้องขออนุญาตลงทุนที่หน่วยงานด้านแผนการและการลงทุน (สำหรับกิจการสัมปทานและกิจการในบัญชีควบคุม)

                    ๒. ยื่นเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และทางเทคนิคตามแบบ ร/ง ๑๔ ต่อหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า

                    ๓. ยื่นคำร้องขอใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ประกอบ

                    ๔. ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างที่หน่วยงานด้านโยธาธิการและขนส่ง

                    ๕. เริ่มก่อสร้างโรงงานภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตการก่อสร้าง

          ๒. การก่อสร้างโรงงาน

                    เมื่อได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจและใบอนุญาตดำเนินธุรกิจหรือใบอนุญาตการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนต้องจัดทำเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และทางเทคนิคตามแบบพิมพ์ ร/ง ๑๔ เพื่อเสนอต่อหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า และภายหลังจากได้รับเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว ให้ปฏิบัติตาม ขั้นตอนดังนี้

                    ๑. ตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และทางเทคนิค

                    ๒. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงาน

                    ๓. ติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมให้การก่อสร้างโรงงานเป็นไปตามเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และทางเทคนิค

          ๓. การตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงาน

                    การตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานของหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวง/นครหลวง ห้องการอุตสาหกรรมและการค้าเมือง/นคร หน่วยงานด้านโยธาธิการและขนส่งและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี และนายบ้านที่สถานที่ตั้งโรงงานตั้งอยู่ เพื่อทำการตรวจสอบร่วมกัน

                    ภายหลังการตรวจสอบ หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้าจะทำบันทึกตามแบบพิมพ์ ร/ง ๖ โดยระบุจุดที่ตั้งโรงงาน สภาพแวดล้อมรอบข้างโรงงานตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ ของกฎหมายว่าด้วยอุตสาหกรรมแปรรูป ฉบับเลขที่ ๔๘/สพช ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ โดยโรงงานต้องไม่ตั้งอยู่ในเขตชุมชน  และเขตหวงห้ามของทางราชการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด แหล่งวัฒนธรรม เขตความมั่นคงของชาติ ป่าสงวน ป่าป้องกัน ป่าผลิต แหล่งต้นน้ำ เขตอนุรักษ์ชีวนานาพันธุ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบต้องลงลายมือชื่อในรายงาน       

          ๔. การดำเนินกิจการโรงงาน

          การเริ่มต้นดำเนินกิจการโรงงานหรือเริ่มต้นการผลิตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

                    ๑. การก่อสร้างโรงงานต้องแล้วเสร็จ ทั้งการก่อสร้างอาคารโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักร ติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัย สุขอนามัย ระบบกำจัดและบำบัดของเสีย มลพิษต่าง ๆ ภายในโรงงาน และต้องเป็นไปตามแผนผังเทคนิคการก่อสร้างตามที่เสนอไว้ในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และทางเทคนิค

                    ๒. การทดลองการผลิต หมายถึง การเดินเครื่องจักรเพื่อตรวจสอบความพร้อมของเครื่องจักรภายหลังการติดตั้ง ประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมทั้งระบบความปลอดภัย ระบบการกำจัดและบำบัดของเสีย มลพิษต่าง ๆ ภายในโรงงาน ซึ่งใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน ๙๐ วัน ก่อนการขอรับใบรับรองการดำเนินกิจการโรงงาน

                    ๓. การขอรับใบรับรองการดำเนินกิจการโรงงานก่อนการดำเนินการผลิตจริง ผู้ประกอบกิจการต้องยื่นคำร้องขอดำเนินกิจการโรงงานตามแบบพิมพ์ ร/ง ๑ ที่หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า โดยภายหลังได้รับเอกสารจากผู้ประกอบกิจการถูกต้องและครบถ้วนแล้ว หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้าจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิคของโรงงานภายใน ๕ วันทำการ หากเห็นชอบให้ดำเนินกิจการโรงงานได้ หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้าจะออกใบรับรองการดำเนินกิจการโรงงานภายใน ๕ วันทำการ และหากไม่เห็นชอบให้แจ้งผู้ประกอบกิจการทราบเพื่อทำการแก้ไขต่อไป

                    ใบรับรองการดำเนินกิจการโรงงานออกให้โดยกรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวง/นครหลวง หรือ ห้องการอุตสาหกรรมและการค้าเมือง/นคร ถือเป็นเอกสารทางการที่อนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงงานอย่างถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งต้องแสดงไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่ายภายในโรงงานหรือบริษัท โดยมีอายุการให้อนุญาต ๓ ปี และสามารถต่อได้ ยกเว้นโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงใบอนุญาตฯ จะมีอายุการให้อนุญาตน้อยกว่า ๓ ปี    

* * * * * * * * * * *

          ที่มา - ข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองโรงงาน เลขที่ ๐๒๖๔/อค.กอห ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๙