วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ แขวงสะหวันนะเขตจัดพิธีรับมอบสะพานเซกุมกามและสะพานเซท่ามวกอย่างเป็นทางการ โดยมีนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน นางโตซะโกะ อาเบะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น นายโพไซ ไซยะสอน รองเจ้าแขวง แขวงสะหวันนะเขต และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเข้าร่วม
นายวันทอง บุดตะวง รองหัวหน้ากรมสะพานและถนน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวว่า ในปี ๒๕๕๙ รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ได้สนับสนุนการช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ สปป.ลาว เพื่อก่อสร้างสะพาน ๒ แห่ง ได้แก่ สะพาน เซกุมกามและสะพานเซท่ามวก โดยมีการเซ็นสัญญาระหว่างกรมสากล กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ในการก่อสร้างสะพานเซกุมกามและสะพานเซท่ามวก ซึ่งมีโครงสร้างเสาสะพานและหน้าสะพานเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถรองรับน้ำหนักได้ ๑๑ ตัน/เพลา ขอบสะพานด้านข้างทำด้วยเหล็กที่มีความทนทานต่อการเกิดสนิมสูง สะพานเซกุมกามมีความยาว ๑๖๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง และสะพานเซท่ามวก ยาว ๑๖๐ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร แบ่งออกเป็น ๔ ช่วง และมีการก่อสร้างทางเข้าสะพานทั้งสองแห่งปูด้วยยางแอสฟัลท์ โดยมีระยะทางทั้งหมด ๒,๐๕๖ เมตร ก่อสร้างระบบป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วยการทำตารางหินปลูกหญ้า และติดตั้งระบบไฟส่องสว่างและเครื่องหมายจราจร ใช้เวลาก่อสร้าง ๓๑ เดือน เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผลการดำเนินโครงการแล้วเสร็จก่อนกำหนด โดยมีมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด ๑๙๔ พันล้านกีบ (ประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท) เป็นทุนช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น และทุนของรัฐบาล สปป.ลาว ๒.๗๙ พันล้านกีบ (ประมาณ ๑๐ ล้านบาท)
จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวมอบสะพานทั้งสองแห่งให้กับรัฐบาล สปป.ลาว และนายเวียงสะหวัด สีทันดอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวส่งมอบให้แขวงเป็นผู้ใช้งานและดูแลรักษาต่อไป
ในโอกาสดังกล่าว นายโพไซ ไซยะสอน รองเจ้าแขวง แขวงสะหวันนะเขต ได้กล่าวรับและกล่าวขอบคุณต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่เห็นว่าโครงการก่อสร้างสะพานเซกุมกาม และสะพานเซท่ามวกตามแนวเส้นทางหมายเลข ๙ เป็นโครงการที่มีความสำคัญมากในด้านการขนส่งทางบกและเป็นโครงการที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว โดยเฉพาะแขวงสะหวันนะเขต
รูปภาพประกอบ