การส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า สปป.ลาว มีมูลค่ามากกว่า ๑,๓๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า สปป.ลาว มีมูลค่ามากกว่า ๑,๓๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 621 view

          กรมการนำเข้าและส่งออก เปิดเผยสถิติมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า (สิทธิพิเศษทางการค้าแบบต่างตอบแทนหรือภายใต้กรอบสัญญาการค้าเสรี-FTA และสิทธิพิเศษทางการค้าฝ่ายเดียวหรือสิทธิพิเศษแบบทั่วไป-GSP) ของ สปป.ลาว ประจำปี ๒๕๖๐ โดยการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้ามีมูลค่า ๑,๓๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๕๐ ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า ๔,๘๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ประเทศส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า ของ สปป.ลาว มีทั้งหมด ๓๗ ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม  ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน จีน อังกฤษ โปรตุเกส อิตาลี กัมพูชา โปแลนด์ อินเดีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย กรีซ เอสโตเนีย แคนาดา เมียนมา โครเอเชีย รัสเซีย สโลวีเนีย สิงคโปร์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ โดย สปป.ลาว ส่งออกไปประเทศไทยมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า ๕๖๗.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม มูลค่า ๒๗๐.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น มูลค่า ๑๐๘.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

          สินค้าส่งออก ๓ อันดับแรกเป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่า ๖๖๐.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้ากลุ่มการเกษตร มูลค่า ๔๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ มูลค่า ๑๕๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ในปี ๒๕๖๐ การส่งออกภายใต้ FTA มีมูลค่าสูงกว่า GSP ถึง ๙๒๙.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของการส่งออกทั้งหมดภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า

          - การขอสิทธิพิเศษภายใต้ FTA แบบฟอร์มที่มีการใช้มากที่สุด คือ ฟอร์ม D มูลค่า ๗๐๑.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ฟอร์ม S มูลค่า ๑๕๐.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ฟอร์ม E มูลค่า ๗๔.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ   

          - การขอสิทธิพิเศษภายใต้ GSP มีมูลค่า ๓๙๘.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบบฟอร์มที่มีการใช้มากที่สุด คือ    ฟอร์ม AT สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มซึ่งถูกส่งออกไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า ๒๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ฟอร์ม A สำหรับผลิตภัณฑ์ทั่วไป มูลค่า ๑๕๔.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฟอร์ม CO-Korea มีมูลค่า ๓.๔๐ 
ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          อย่างไรก็ดี สถิติการส่งออกข้างต้นยังไม่สะท้อนถึงการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าที่แท้จริง เนื่องจากไม่ได้เปรียบเทียบกับมูลค่าการนำเข้าจริงของประเทศปลายทาง และเป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกภายใต้กรอบ FTA ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและของป่า ซึ่งส่งออกภายใต้กฎของสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยการใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained) ซึ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการของ สปป.ลาว ยังไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในวงจรการผลิตภายในภูมิภาค ได้ดีเท่าที่ควร

          ที่มา  หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ