โครงการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยตามเส้นทางคู่ขนานแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (Para EWEC)

โครงการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยตามเส้นทางคู่ขนานแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (Para EWEC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 980 view
เมื่อวันที่ 22-27 กันยายน 2553 กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดโครงการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยตามเส้นทางคู่ขนานแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (Para EWEC) (อุบลราชธานี-ช่องเม็ก-ปากเซ-อัตตะปือ-กอนตูม-บิ่งห์ดิ่งห์-กวีเญิน) โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อาทิ นายพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ผู้แทนสภาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเอกชนและสื่อมวลชนต่างๆ
 
ในวันที่ 23 กันยายน 2553 คณะได้เดินทางไปยังแขวงอัตตะปือเพื่อเข้าคารวะและฟังบรรยายสรุปจาก ท่าน ดร.คำพัน พมมะทัด เจ้าแขวงอัตตะปือ โดยท่านได้กล่าวต้อนรับคณะและกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของแขวง และศักยภาพของแขวงในการรองรับการลงทุน ทั้งการทำเกษตรแบบมีสัญญาและการท่องเที่ยว เนื่องจากทางแขวงมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่น่าสนใจ อาทิ หนองฟ้า เมืองสานไซ วัดหลวงเมืองเก่า (เมืองไซเสดถา) พระองค์แสน (วัดสะแคะ) หินจองเจือง ตามเส้นทางโฮจิมินห์ และได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจไทยให้เข้าไปลงทุนในแขวง เนื่องจากในแขวงยังไม่มีนักลงทุนไทยเข้าไปทำธุรกิจ
 
วันที่ 24 -25 กันยายน 2553 คณะได้เดินทางไปยังจังหวัดกอนตูม จังหวัดซาลายและท่าเรือกวีเญิน ของเวียดนาม เพื่อสำรวจและศึกษาศักยภาพ ในการส่งเสริมโอกาสการลงทุนของไทย และเดินทางกลับในวันที่ 27 กันยายน 2553 ผ่านเส้นทางในแขวงจำปาสัก โดยได้มีการทัศนศึกษาและสำรวจศักยภาพของแขวงจำปาสัก เพื่อเป็นการหาลู่ทางส่งเสริมโอกาสการลงทุนของไทย
 
เส้นทางคู่ขนานระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (PARA EWEC : Parallel East West Economic Corridor) เป็นแนวคิดที่หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเส้นทางซึ่งจะย่นระยะทางจากทะเลจีนใต้ที่ดานัง ไปยังทะเลอันดามันที่ทวาย ประเทศพม่า โดยผ่านแขวงอัตตะปือ - แขวงเซกอง - แขวงจำปาสัก – จังหวัดอุบลราชธานี - ศรีสะเกษ - สุรินทร์ ? บุรีรัมย์ - นครราชสีมา -กรุงเทพฯ - กาญจนบุรี - ทวาย(พม่า) เพื่อให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอีกประตู (Gate Way) สู่กลุ่มประเทศอินโดจีนตอนกลางและตอนใต้ ตามกรอบการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต (The Emerald Triangle) และวงกลมเศรษฐกิจอินโดจีน (Economic Circle in Indochina Thai ? Laos ? Vietnam ? Cambodia) ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub-region : GMS) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ ASEAN

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ