การสัมมนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในลาว ครั้งที่ 2

การสัมมนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในลาว ครั้งที่ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 735 view
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จัดสัมมนาเรื่อง “โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจใน สปป.ลาว : กฎหมายส่งเสริมการลงทุนปี 2552 และปีการท่องเที่ยวลาว 2555” ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ท่านอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และตัวแทนภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก
 
ดร.วีระพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ กล่าวเปิดการสัมมนา โดยได้กล่าวต้อนรับคณะวิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ และการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ณ จังหวัดมุกดาหาร ที่ได้รับความสำเร็จอย่างมาก ได้รับการตอบรับจากภาคส่วนต่างๆเป็นอย่างดี จนทำให้เกิดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น หลังจากนั้นท่านอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย ก็ได้กล่าวเปิดสัมมนาว่า นับตั้งแต่ปี 2528 สปป.ลาว ได้เปิดประเทศรับนักลงทุน อีกทั้งได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายการลงทุน โดยในปี 2553 มีการลงทุน 761 โครงการ มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2553-2558 มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 8 และเป้าหมายการพัฒนาต่างๆ มากกว่า 120 โครงการ เช่น โครงการสร้างรถไฟฟ้าจากจีน สร้างเขื่อน 4 แห่ง บ่อแร่ ฯลฯ มูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และได้เชิญชวนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในลาวให้มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการมีความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างกัน รวมทั้งกล่าวถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 60 ปี ในเดือนธันวาคม 2553 นี้ ในการสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรรับเชิญจาก สปป.ลาว ดังนี้
 
1. ท่านกิดสะหนา วงไซ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว บรรยายในเรื่อง ?โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจใน สปป.ลาว และความร่วมมือกับไทย? โดยเน้น 3 ประเด็น ได้แก่ การเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สิ่งท้าทายและอุปสรรค เช่น กฎหมายของ สปป.ลาว ที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง และองค์กรที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในด้านการลงทุน เช่น สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สภาธุรกิจไทย-ลาว และสภาการค้าและอุตสาหกรรมของแต่ละแขวง นอกจากนี้ ท่านกิดสะหนา วงไซยังได้กล่าวว่า สาขาที่ส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุน ได้แก่
- การเกษตร เนื่องจากลาวมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งที่ดิน ทรัพยากรต่างๆ
- การท่องเที่ยว เพราะลาวตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาค
- สิ่งทอ เพื่อการส่งออก เนื่องจากลาวได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากประเทศต่างๆ
- การศึกษา โดยเน้นสถานศึกษาแบบอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน
- โรงพยาบาล เนื่องจากประชาชนลาวจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อรักษาพยาบาลตาม โรงพยาบาลชายแดน
 
2. ท่านนางทัมมา เพ็ดวิไซ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุนบรรยายเรื่อง ?กฎหมายส่งเสริมการลงทุนของลาว : ลู่ทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ? โดยได้ชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 2552 และการให้สิทธิแก่นักลงทุนต่างประเทศเท่าเทียมกับนักลงทุนภายใน อีกทั้งยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การเพิ่มอายุการสัมปทานและการให้ประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากร นอกจากนี้ในการยื่นใบขออนุญาตลงทุน สามารถยื่นได้ 3 แห่ง คือ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (กิจการทั่วไป) กระทรวงแผนการและการลงทุน (กิจการสัมปทาน เช่น การบิน รถไฟ ที่ดิน บ่อแร่) และเขตเศรษฐกิจพิศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ นอกจากนี้ ท่านนางทัมมา เพ็ดวิไซ ยังกล่าวอีกว่า สิทธิด้านภาษีของกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ดีกว่าฉบับเก่า เพราะ ฉบับเก่ายกเว้น 7 ปี แต่ฉบับใหม่ยกเว้น 10 ปี โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุขได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มอีก 5 ปี
 
3. ท่านสุกกะเสิม โพทิสาน รองประธานองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติลาวบรรยายในเรื่อง? พ.ศ. 2555 ปีท่องเที่ยวลาว : โอกาสสำหรับความร่วมมือ? ได้กล่าวว่า ในปี 2555 รัฐบาลได้ประกาศเป็นปีท่องเที่ยวลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างงานและลดความยากจน สร้างความรู้และความเข้าใจ เพื่อให้นานาประเทศรู้จักประเทศลาวมากขึ้น ตอบสนองการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและหลากหลาย และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ ท่านสุกกะเสิม โพทิสาน ยังได้กล่าวว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวที่สงวนไว้ให้คนลาวมี 3 สาขา คือ มัคคุเทศก์ การสร้างเรือนพัก ที่มีห้องพักไม่มาก และการท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ (การท่องเที่ยวเฉพาะเขต) ในส่วนของธุรกิจนำเที่ยวอนุญาตให้ต่างชาติร่วมทุนกับคนลาวได้ในอัตราส่วนอย่างน้อย ต่างชาติ 70 % และคนลาว 30 %
 
4. ท่านทองใส ไซยะวงคำดี รองหัวหน้าห้องการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน กล่าวเชิญชวนให้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงสะหวันนะเขต โดยแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่
โซน A หรือ Savan City อยู่ใกล้สะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 เหมาะในการทำกิจการด้านบริการ การท่องเที่ยว ร้านค้าปลอดภาษี
โซน B หรือ Logistic Park เป็นเขตบริการจัดส่งและกระจายสินค้า อยู่ที่เมืองเซโน ห่างจากสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 ประมาณ 28 กม. จะสร้างเป็นศูนย์โลจิสติกส์ เพราะเป็นจุดตัดระหว่าง R13 เชื่อมเหนือ-ใต้ กับ R9 ซึ่งเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก
โซน C หรือ Savan Park อยู่ใกล้ตัวเมือง ห่างจากสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 ประมาณ 7-9 กม. และห่างจากสนามบินเพียง 5 กม. จะสร้างเป็นเขตอุตสาหกรรมเบา
โซน D (Resettlement) เป็นเขตบ้านจัดสรร ตั้งอยู่ที่หลัก 8 เมืองไกสอน พมวิหาน เพื่อรองรับการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ที่จะสร้าง Savan City ในโซน A

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ