เกษตรกรเมืองไซบูลี แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เลี้ยงวัวเตรียมส่งออกไปจีน

เกษตรกรเมืองไซบูลี แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เลี้ยงวัวเตรียมส่งออกไปจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,650 view

         เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ แผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต ลงพื้นที่เยี่ยมชมและเก็บข้อมูลฟาร์มเลี้ยงวัวของนางพอนทิบ  เคนนะวง เกษตรกรต้นแบบผู้เลี้ยงวัว บ้านแก้งแฮด เมืองไซบูลี แขวงสะหวันนะเขต ผู้เริ่มทำฟาร์มวัวตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ตั้งเป้าส่งออกไปจำหน่ายที่จีนในปี ๒๕๖๕

          ปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงวัวนางพอนทิบฯ มีโรงเรือนเลี้ยงวัวจำนวน ๓ โรง มีวัวทั้งหมด ๑๓๗ ตัว แบ่งเป็นวัวพันธุ์ผสมกับวัวพื้นเมือง ซึ่งทดลองเลี้ยงใน ๒ รูปแบบ คือ เลี้ยงตามธรรมชาติ และเลี้ยงแบบขังเพื่อขุนวัว เพื่อศึกษาว่ารูปแบบใดจะทำให้วัวมีน้ำหนักดีกว่า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของวัวในปัจจุบันและการขยายขนาดของฟาร์มในอนาคต แบ่งเป็น หญ้าจุนส้าว และหญ้าเนเปีย  สำหรับหญ้าจุนส้าว เป็นหญ้าที่นำเข้ามาจากจีนและสามารถให้ผลผลิตสูงกว่าหญ้าเนเปีย โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจีนเป็นผู้แนะนำเทคนิควิธีการปลูก ขณะนี้ได้ทำการปลูกหญ้าแล้ว ๒๕ เฮกตาร์ จากพื้นที่ของฟาร์มทั้งหมด ๗๘ เฮกตาร์

          ในอนาคตอันใกล้ นางพอนทิบฯ มีแผนจะจัดฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ทั้งฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนหลายร้อยตัวที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำภายในที่ฟาร์ม และจุดชมวิว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

          พื้นที่ ๖ แขวงตอนใต้ของ สปป.ลาว มีฟาร์มเลี้ยงวัวจำนวน ๑๑๔ ฟาร์ม มีวัวรวม ๒๙,๘๙๑ ตัว แบ่งเป็น  แขวงคำม่วน ๑๙ ฟาร์ม มีวัว ๙๘๗ ตัว แขวงสะหวันนะเขต ๑๙ ฟาร์ม มีวัว ๓,๒๐๑ ตัว แขวงสาละวัน ๒๐ ฟาร์ม      มีวัว ๗๗๐ ตัว แขวงเซกอง ๕ ฟาร์ม มีวัว ๔,๒๓๕ ตัว แขวงอัดตะปือ ๒๖ ฟาร์ม มีวัว ๑๓,๖๖๖ ตัว และ แขวงจำปาสัก ๒๕ ฟาร์ม มีวัว ๗,๐๓๒ ตัว นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงวัวภายในครอบครัวซึ่งมีวัวรวมกันมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ตัว

          มูลค่าการส่งออกวัวและควายของ สปป.ลาว เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก ๒๓.๕๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๘ เป็น ๒๒๖.๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๒ โดยมีจีนและเวียดนาม เป็นตลาดส่งออกวัวและควายที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว โดยตลาดยูนนานของจีนมีความต้องการนำเข้าวัวและควาย จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี ขณะที่เวียดนามมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ – ๔๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 

          แหล่งอ้างอิง

                   ๑. หนังสือพิมพ์สะหวันพัฒนา, รองหัวหน้าแผนกกสิกรรมและป่าไม้ เยี่ยมชมต้นแบบการเลี้ยงวัวที่เมือง ไซยะบูลี, ฉบับวันที่ ๖ – ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓

                   ๒. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้า สปป.ลาว, สภาพการเลี้ยงวัว ควาย ของ สปป.ลาว กำลังมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ, https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=1912

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต

๙ ตุลาคม ๒๕๖๓