ข้อมูลทั่วไปแขวงสะหวันนะเขต

ข้อมูลทั่วไปแขวงสะหวันนะเขต

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 88,912 view

ที่ตั้ง 
ตั้งอยู่ภาคกลางของ สปป. ลาว ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ 480 กม.

ทิศเหนือ

ติดกับแขวงคำม่วน

ทิศตะวันออก

ติดกับจังหวัดกวางจิและกวางบินของเวียดนาม

ทิศใต้

ติดกับแขวงสาละวัน

ทิศตะวันตก

ติดกับจังหวัดมุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญและ อุบลราชธานีของไทย โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเขตแดน


ภูมิประเทศ

  • เนื้อที่ 21,774 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 13.6 ล้านไร่)
  • เป็นที่ราบร้อยละ 58.5% เนินเขาและภูเขาร้อยละ 41.5% 


การแบ่งเขตการปกครอง 
15 เมือง ได้แก่ ไกสอนพมวิหาน อุทุมพอน อาดสะพังทอง พิน เซโปน วีละบูลี สองคอน นอง จำพอน ท่าปางทอง ชนบูลี ไซบูลี อาดสะพอน ไซพูทอง และ พะลานไซ 

ประชากร

  • ประชากรในแขวงฯ มีมากที่สุดในประเทศ (ประมาณ 1,070,000 คน)
  • ความหนาแน่นของประชากร 49 คนต่อ ตร.กม.
  • 11 ชนเผ่า คือ ลาวลุ่ม ผู้ไท ไทดำ กะตาง มังกอง จาลือ ละวา ลาวส่วย ปาโกะ กะเลิง และ ตะโอ้ย
  • ประชากรร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยมีผลผลิตเหลือส่งออกต่างประเทศ 
     

รายได้ต่อคน/ปี
2,041 USD

จุดเด่นของแขวง

  • ช่วง 5 ปี (2559 - 2563) เศรษฐกิจแขวงสะหวันนะเขตมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.53 ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.76 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า
  • ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง จ. มุกดาหารกับ จ. กวางจิของเวียดนาม ที่เชื่อมโยงไปเมืองเว้ และดานัง เป็นจุดเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
  • มีสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เป็นจุดเชื่อมระหว่าง ไทย และเวียดนาม ผ่านทางเส้นทางหมายเลข 9 อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง EWEC (East-West Economic Corridor)
  • รัฐบาล สปป. ลาว ประกาศโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนแห่งแรกในลาว ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงสะหวันนะเขต" 
  • เป็น 1 ใน 4 แขวง (นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงจำปาสัก) ที่เจ้าแขวงมีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนในแขวงที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้พื้นที่ไม่เกิน 100 เฮกตาร์ โดยไม่ต้องรับความเห็นชอบจากส่วนกลาง (เฉพาะในโครงการที่รัฐบาลลาวส่งเสริม เช่น การก่อสร้าง การขุดค้นทรัพยากร) ส่วนแขวงอื่น ๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนได้เองไม่เกิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เป็นแขวงเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์ หลายประเทศรวมทั้งไทยจึงเข้าไปลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรมกันมาก 
     

ทรัพยากรธรรมชาติ 
ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และแร่ธาตุ ได้แก่ หินอ่อน หินแกรนิต แร่ลิกไนต์ แร่เหล็ก ทองคำ ทองแดง ยิปซัม โดยมีบริษัท Minerals and Metals Group (MMG) ของจีนเป็นผู้ลงทุนผลิตทองคำ และทองแดงส่งออก (ซื้อกิจการต่อจากบริษัท OZ minerals ของออสเตรเลีย)

การเกษตร

กสิกรรม

ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ไม้ยูคาลิปตัส ยาสูบ อ้อย ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ละหุ่ง มันสำปะหลัง กระเทียม อ้อย

ปศุสัตว์

ได้แก่ วัว แพะ


การค้า 
แขวงสะหวันนะเขตมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองรองจาก นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังแขวงใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม และไทย สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้าไทย จีน และเวียดนาม ซึ่งนำเข้าผ่านด่านมุกดาหาร ด่านลาวบาว และจากนครหลวงเวียงจันทน์ 

สินค้าส่งออกต่างประเทศ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ ยิปซั่ม ทองคำ ทองแดง เครื่องนุ่งห่ม ของป่า 

ตลาดการค้าสำคัญในแขวง ได้แก่ ตลาดสะหวันไซ ตลาดสามัคคีไซ ตลาดหลัก 8 บริษัทและร้านค้าขนาดย่อย งานแสดงสินค้าในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่แขวงฯ เชิญผู้ค้าจากไทยและประเทศใกล้เคียงไปร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า 

จุดผ่านแดนถาวร 2 จุด คือ 
1. ด่านสากลสะพานมิตรภาพ 2(สะหวันนะเขต- มุกดาหาร) ทำการทุกวัน 06.00 – 22.00 น. 
2. ด่านแดนสะหวัน-ลาวบาว ชายแดนลาว-เวียดนาม โดยมีถนนหมายเลข 9 เชื่อมระหว่าง 2 ด่านดังกล่าว 

รายชื่อเอกชนไทยที่ลงทุนในแขวงสะหวันนะเขตและเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงสะหวันนะเขต
อาทิ

  • บ.ไทฮั้วยางพารา (ปลูกยางพารา)
  • บ.น้ำตาลมิตรลาว (ปลูกอ้อย/ผลิตน้ำตาล) ลงทุนโดย บ.น้ำตาลมิตรผล และได้มีพิธีเปิดโรงงานน้ำตาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552
  • บ.น้ำตาลสะหวันนะเขต (ปลูกอ้อย/ผลิตน้ำตาล) ลงทุนโดย บ.น้ำตาลขอนแก่น 
     

โครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA) ในแขวงฯ 

- ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคแขวงสะหวันนะเขต โดยสร้างอาคารสาขาวิศวกรรม และปรับปรุงอาคารสาขาการโรงแรม การมอบอุปกรณ์ และการฝึกอบรม มูลค่า 30 ล้านบาท

- โครงการพัฒนาระบบ ICT เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรม การค้าและ SMEs

- โครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ตามแนวชายแดนไทย - สปป. ลาว โดยในปี 2564 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับ สสจ. มุกดาหาร ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 698,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลแขวงสะหวันนะเขต

ธนาคาร

ของรัฐ

ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ประจำภาคกลาง ธนาคารการค้าต่างประเทศ ธนาคารพัฒนาลาว ธนาคารนโยบาย และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม

เอกชน

ธนาคาร Public (มาเลเซีย) ธนาคารพงสะหวัน (ลาว) ธนาคารเอสที (ลาว) ธนาคารเอซีลิดา (กัมพูชา) ธนาคารลาว-เวียด (เวียดนาม)


การท่องเที่ยว 
แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ พระธาตุอิงฮัง วัดไซยะพูม พิพิธภัณฑ์ชีวศาสตร์ไดโนเสาร์ หนองหล่ม – ป่าสงวนดงนาตาด แหล่งขุดค้นกระดูกไดโนเสาร์ พูซ้างแห่ แก่งหลวงพร้อมรอยเท้าไดโนเสาร์ ป่าสงวนแห่งชาติดงพูเวียง แก่งสามมัดแตก เส้นทางโฮจิมินห์ ตาดสะแล็น หอไตรวัดหนองลำจัน หนองหลวง(ปลาฝา) ดงลิง ธาตุอูบมุง-ละหาโคก ธาตุเรือนหิน ธาตุโผ่น ประเพณีแข่งเรือ บุญปีใหม่ลาว (สงกรานต์) และสถานคาสิโน (Savan Resorts) 

คมนาคม

ทางบก

เป็นจุดเชื่อมต่อของถนนสายหลัก 2 สาย คือถนนหมายเลข 13 ซึ่งเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้ของลาว และถนนหมายเลข 9 ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ออกไปทางชายแดนด้านตะวันออก เชื่อมต่อไปยังจังหวัดกวางจิ เว้ ดานังของเวียดนาม

ทางอากาศ

มีสนามบินภายในและระหว่างประเทศ 1 แห่งในนครไกสอนพมวิหาน โดยมีเที่ยวบินไป-กลับระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์-สะหวันนะเขต

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ