รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนและภาคเอกชนลงนามสัญญาว่าด้วยการร่วมทุน ก่อตั้ง บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าของ สปป. ลาว

รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนและภาคเอกชนลงนามสัญญาว่าด้วยการร่วมทุน ก่อตั้ง บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าของ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,211 view

       เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีการลงนามสัญญาว่าด้วยการร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ระหว่างผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ นายสุลิยา มะนีวง ผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน และฝ่ายเอกชน ประกอบด้วย นายพุดพอนไซ หลวงลาด ผู้อำนวยการบริษัท เกรทเตอร์แม่โขงโลจิสติกส์ จำกัด นางทูนสะหวัน สีจันทองทิบ ผู้อำนวยการบริษัท ขนส่งสากล จำกัด และนาย Lam Cho Shing บริษัท สปีดอินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด

        บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด มีทุนเบื้องต้นทั้งหมดมูลค่า ๑๕๗,๐๑๑,๗๒๐,๐๐๐ กีบ (ประมาณ ๔๗๕.๗๙ ล้านบาท) มีอัตราส่วนการถือหุ้น ดังนี้ (๑) รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน (ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล) ถือหุ้นร้อยละ ๓๐ และ (๒) บริษัท เกรทเตอร์แม่โขงโลจิสติกส์ จำกัด (ผู้แทนฝ่ายเอกชนของ ๓ บริษัท) ถือหุ้นร้อยละ ๗๐ แบ่งออกเป็น บริษัท เกรทเตอร์แม่โขงโลจิสติกส์ จำกัด ร้อยละ ๕๒.๕๐ บริษัท ขนส่งสากล จำกัด ร้อยละ ๑๐.๕๐ และบริษัท สปีดอินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ร้อยละ ๗

          การก่อตั้ง บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาท่าบก (Dry Port) ให้เป็นประตูการเข้า-ออกของสินค้าระหว่างประเทศและผลักดันให้ สปป. ลาว เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการขนส่งของภูมิภาคและสากล ผ่านด่านชายแดนแขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าที่ได้กำหนดความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาท่าบกใน สปป. ลาว และยังสอดคล้องกับนโยบายเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเลไปสู่ประเทศเชื่อมโยงหรือประเทศบริการทางผ่านด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการขนส่งและการจัดการด้านการขนส่งของ สปป. ลาว ให้ทันสมัยและครบวงจร ลดการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่กระจัดกระจายและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

          เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มีความเหมาะสมทั้งทางด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และด้านปริมาณการสัญจรสินค้าระหว่างประเทศที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น มีเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงทั้งสี่ทิศทาง มีความสะดวกในการเข้าถึงเส้นทางหมายเลข ๑๒ ที่เชื่อมโยงกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย ถึงเมืองจาลอ ของเวียดนาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุดจาก สปป. ลาว ไปสู่เวียดนาม และเชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข ๑๓ ที่เป็นเส้นทางสายสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพด้านการบริการทางผ่านและอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสดึงสินค้าผ่านเข้ามาใช้บริการได้ สามารถรองรับสินค้าจากแขวงใกล้เคียง เช่น แขวงบอลิคำไซและแขวงสะหวันนะเขตเพื่อเป็นการส่งออก และสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปเวียดนามและส่งต่อไปยังประเทศจีน ทำให้ท่าบกท่าแขกมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของภาคกลาง

          ท่าบก (Dry Port) หมายถึงเขตโลจิสติกส์ที่มีที่ตั้งอยู่บนบก เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สามารถรับ-ส่ง รวบรวม กระจาย ฝากคลังสินค้า เปิดและบรรจุตู้สินค้าได้ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาระหว่างประเทศและเป็นด่านชายแดนสากลสำหรับการขนส่งสินค้าเข้า-ออกและผ่านแดนของประเทศ   

 

        แหล่งอ้างอิง

        หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา “รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนและเอกชนลงนามสัญญาว่าด้วยการร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าของ สปป. ลาว” สื่อออนไลน์ วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ https://www.laophattananews.com/archives/109666?fbclid=

**************