วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มี.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 มี.ค. 2566
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๖ แผนกแผนการและการลงทุนแขวงสะหวันนะเขตจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัทเอกชนเวียดนาม ๒ บริษัท เพื่อศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการเลี้ยงโคคุณภาพสูงในเขตพื้นที่ผาบัง เมืองเซโปน บนพื้นที่ ๓๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๑,๘๗๕ ไร่) โดยมีนายคำผุย สีบุนเฮือง หัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุนแขวงฯ นายคำจัน สีดาวง หัวหน้าแผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงฯ นายวงสะหวัน เวียงมะนี เจ้าเมืองเซโปน นายสีโท ทอละทา รองหัวหน้าห้องว่าการปกครองแขวงฯ นาย Le Minh Hieu ผู้อำนวยการบริษัทเอกชนเวียดนาม TDG Global Investment Joint Stock Company และนาย Dang Quoc Huy ผู้อำนวยการบริษัทเอกชนเวียดนาม FRA Holding Joint Stock Company พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
แขวงสะหวันนะเขตมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการเลี้ยงโคและกระบือเพื่อส่งออกไปยังจีน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะต้องจดทะเบียนฟาร์มในรูปแบบบุคคล/ นิติบุคคล/ กลุ่มการผลิต/ ภาครัฐ และกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือ แบ่งเป็น (๑) เขตพื้นที่ราบตามริมแม่น้ำโขง ได้แก่ นครไกสอนพมวิหาน เมืองไซบูลี เมืองไซพูทอง และเมืองสองคอน และ (๒) เขตพื้นที่ราบตอนกลางของแขวงฯ ได้แก่ เมืองอุทุมพอน เมืองอาดสะพอน เมืองอาดสะพังทอง เมืองจำพอน เมืองซนนะบูลี และเมืองพะลานไซ
ในปี ๒๕๖๕ สปป. ลาว มีการเลี้ยงโคจำนวน ๒,๔๗๒,๙๕๔ ตัว ปัจจุบันมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงโคใน ๖ แขวงตอนใต้ของ สปป. ลาว จำนวน ๑๑๔ ฟาร์ม รวมจำนวนโค ๑๒,๙๙๗ ตัว แบ่งเป็น
๑) แขวงจำปาสัก ๒๖ ฟาร์ม มีโค ๔,๙๗๕ ตัว
๒) แขวงสะหวันนะเขต ๒๕ ฟาร์ม มีโค ๓,๓๔๐ ตัว
๓) แขวงคำม่วน ๒๓ ฟาร์ม มีโค ๑,๕๘๗ ตัว
๔) แขวงสาละวัน ๒๐ ฟาร์ม มีโค ๗๗๐ ตัว
๕) แขวงอัดตะปือ ๑๘ ฟาร์ม มีโค ๒,๑๓๕ ตัว
๖) แขวงเซกอง ๒ ฟาร์ม มีโค ๑๙๐ ตัว
เมื่อปี ๒๕๖๒ สปป. ลาว ได้รับโควตาการส่งออกโคและกระบือไปยังจีน ๕๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี แต่ในปี ๒๕๖๔ สามารถส่งออกได้ ๒,๐๑๓ ตัว โดยในปี ๒๕๖๖ รัฐบาล สปป. ลาว กำหนดเป้าหมายการส่งออกโคไปยังจีนให้ได้มูลค่า ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ลักษณะการผลิตและการเลี้ยงสัตว์ใน สปป. ลาว ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงตามธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์สัตว์และการเลี้ยงให้ได้ตามข้อกำหนดและมาตรฐานของจีนซึ่งกำหนดให้โคและกระบือต้องมีอายุไม่เกิน ๔ ปี น้ำหนักอย่างน้อย ๓๕๐ กิโลกรัมและปลอดโรคระบาด รวมถึงต้องขุนเป็นระยะเวลา ๔๕ วันและกักกันเป็นระยะเวลา ๓๐ วันที่ด่านกักกันสัตว์ใหญ่ เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ก่อนส่งออกไปยังจีน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในสัตว์โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย (Lumpy Skin) ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการลงทุนเลี้ยงสัตว์ประเภทโคและกระบือใน สปป. ลาว เพื่อส่งออกไปยังจีน
ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์สะหวันพัฒนา
แหล่งอ้างอิง
๑. หนังสือพิมพ์สะหวันพัฒนา ประจำวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓
๒. TDG Global Investment Joint Stock Company ประจำวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ <http://thaiduongpetrol.vn/le-ky-bien-ban-ghi-nho-mou-du-an-trang-trai-chan-nuoi-bo-cong-nghe-cao-va-du-lich-sinh-thai>
๓. นายคำสอน สีสะอาด หัวหน้ากรมเลี้ยงสัตว์และการประมง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว (สภาวะและเงื่อนไขศักยภาพการผลิตโคของ สปป. ลาว) ประจำวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓
๔. กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว ประจำวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://www.maf.gov.la/4842-2/>
๕. หนังสือพิมพ์ Vientiane Time ประจำวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๓ <https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten37_laoschina_y23.php>
๖. สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ (การส่งเสริมเลี้ยงและกระบือใน สปป. ลาว เพื่อส่งออกไปจีน) ประจำวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
๗. สำนักข่าว VOA ลาว ประจำวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๒๒ <https://lao.voanews.com/a/laos-exported-only-2-013-cows-to-china-because-of-lumpy-skin-last-year/6610518.html>
๘. ข้อมูลเพิ่มเติมจากแผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต
* หมายเหตุ พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่
**************