บริษัท Vangtat Mining จำกัด ขุดค้นและแปรรูปแร่ทองคำและแร่เหล็กที่แขวงอัดตะปือ

บริษัท Vangtat Mining จำกัด ขุดค้นและแปรรูปแร่ทองคำและแร่เหล็กที่แขวงอัดตะปือ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 เม.ย. 2565

| 2,490 view

            เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๕ นายจันทะลา แก้วหาวง รักษาการหัวหน้ากรมคุ้มครองบ่อแร่ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว และคณะเยี่ยมชมโครงการขุดค้นและแปรรูปแร่ทองคำของบริษัท Vangtat Mining จำกัด ที่บ้านวังตัด เมืองซานไซ แขวงอัดตะปือ บริษัทดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนลาวและกลุ่มบริษัทพัฒนาชนบทใหม่ภายใต้กระทรวงป้องกันประเทศ สปป. ลาว เริ่มสำรวจแร่ทองคำที่แขวงอัดตะปือตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ บนพื้นที่ ๓ ตารางกิโลเมตร และได้รับใบอนุญาตให้ลงทุนสำรวจ ขุดค้น แปรรูปแร่ทองคำ และแร่อื่นที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๕๕ โดยมีอายุสัมปทาน ๒๙ ปี ทุนจดทะเบียน ๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำหนดเขตการขุดค้นและการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาล สปป. ลาว บนพื้นที่ ๑,๘๐๐ เฮกตาร์ (๑๑,๒๕๐ ไร่) ปัจจุบันมีการขุดค้นและแปรรูปแร่แล้วบนพื้นที่ ๓๐๐ เฮกตาร์ (๑,๘๗๕ ไร่) ขณะที่อีก ๑,๕๐๐ เฮกตาร์ (๙,๓๗๕ ไร่) อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ โดยจะมีการลงนามสัญญาว่าด้วยการขุดค้นและแปรรูปในอนาคตต่อไป

            ในปี ๒๕๖๔ บริษัทฯ สามารถขุดค้นแร่ทองคำได้ทั้งหมด ๒๓๑,๐๗๐ ตัน แปรรูปได้ ๒๐๐,๕๒๓ ตัน และสามารถจำหน่ายแร่ดังกล่าวได้ ๑๒,๐๒๖ ออนซ์ คิดเป็นมูลค่ารวม ๒๑,๑๙๑,๒๒๘ ดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทฯ ได้จ่ายค่าทรัพยากรแร่ธาตุจำนวน ๑,๔๘๑,๙๘๖ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าสัมปทานจำนวน ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่รัฐบาล สปป. ลาว

            นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยการแก้ไขและเพิ่มเติมสัญญาการขุดค้นและสำรวจแร่ทองคำ เพื่ออนุญาตให้บริษัทฯ สามารถขุดค้นแร่เหล็กเพิ่มเติมที่บ้านหนองไก่โอก เมืองซานไซ ในพื้นที่สัมปทาน ๗.๒๒ ตารางกิโลเมตร และมีมูลค่าการลงทุน ๘,๑๘๙,๗๔๐ ดอลลาร์สหรัฐ อายุสัมปทาน ๘๔ เดือน ซึ่งจากการสำรวจคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีปริมาณสินแร่จำนวน ๓,๐๕๖,๕๐๐ ตัน โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการผลิตแร่เหล็กให้ได้ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ตันต่อเดือน หรือ ๓๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี โดยปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นต่อบทสรุปย่อ ตลอดจนบทรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแผนคุ้มครองและติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม

            ข้อมูลศูนย์สถิติแห่งชาติระบุว่า ระหว่างปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๓ สปป. ลาว สามารถผลิตแร่เหล็กได้ ๑๑๕,๐๖๕ ตัน ๒๕๐,๐๐๐ ตัน ๙๙,๑๙๕ ตัน ๔๗๐,๓๐๐ ตัน และ ๑,๐๑๓,๐๔๒ ตัน และข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารายงานว่า สปป. ลาว มีมูลค่าการส่งออกแร่เหล็กระหว่างปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ ประมาณ ๗.๓๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๔.๘๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๔๓.๕๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๘๓.๗๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ๒๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ว่า สปป. ลาว จะผลิตแร่เหล็กได้จำนวนมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในซึ่งยังคงมีการนำเข้าเหล็กประเภทต่าง ๆ ระหว่างปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ มีมูลค่าประมาณ ๑๐๘.๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๒๐๖.๓๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๑๕๒.๙๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๑๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ๒๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

 

vangtatmining

เครดิตภาพ: Facebook ศูนย์ข่าวพลังงานและบ่อแร่

แหล่งอ้างอิง    

          ๑. ศูนย์ข่าวพลังงานและบ่อแร่ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕

          ๒. บริษัท Vangtat Mining Co., Ltd. สืบค้นวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ <http://www.vangtatmining.com/index.php/lo/>

          ๓. บทสรุปย่อการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบละเอียด โครงการขุดค้นแร่เหล็กที่บ้านหนองไก่โอก เมืองซานไซ แขวงอัดตะปือ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๒

          ๔. แผนคุ้มครองและติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๒

          ๕. บทประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบละเอียด โครงการฯ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๒

          ๖. ศูนย์สถิติแห่งชาติ สปป. ลาว (สถิติผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ แร่เหล็ก) สืบค้นวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕

          ๗. กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว (สถิติการนำเข้า-ส่งออกของ  สปป. ลาว) สืบค้นวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕ <https://dimex.moic.gov.la/index.php/statistic>

          ๘. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้าของ สปป. ลาว กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ประจำวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๒ <https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=2462>

*หมายเหตุ  พื้นที่ ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่