วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มี.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (United Power of Asia Public Co., Ltd.: UPA) อนุมัติการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่คริปโทเคอร์เรนซีหรือการขุดเหมืองคริปโทฯ (Cryptocurrency Mining) ใน สปป. ลาว รวมมูลค่าการลงทุน ๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๘๑๗.๗ ล้านบาท ดังนี้
๑. การทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
UPA ร่วมทุนกับ บ. Asia Investment and Financial Services Sole Co., Ltd. (AIFS) (ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนลาวในเครือ AIF Group และบริษัท AIDC) ลงทุนในสัดส่วนฝ่ายละร้อยละ ๕๐ เพื่อจัดตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ (Singapore Holding) ซึ่งจะถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใน สปป. ลาว (Laos Holding) โดยบริษัทดังกล่าวจะลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนท้องถิ่น เพื่อขอรับใบอนุญาตสำหรับการทำธุรกิจเหมืองคริปโทฯ (Operating Company) ในสัดส่วนฝ่ายละร้อยละ ๕๐
๒. การขุดเหมืองคริปโทฯ
UPA สั่งซื้อเครื่องขุดคริปโทฯ จำนวน ๔,๙๐๐ เครื่อง สำหรับติดตั้งที่เหมืองที่นครปากเซ ซึ่งลงทุนร่วมกับ บริษัท AIFS รวมมูลค่าประมาณ ๑๓.๔๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ UPA นำนักธุรกิจเข้าเยี่ยมชมเหมืองคริปโทฯ ซึ่งติดตั้งเครื่องขุดคริปโทฯ แล้วเสร็จจำนวน ๔๐๐ เครื่อง พร้อมดำเนินการขุดคริปโทฯ และสามารถรู้รายได้บางส่วนในไตรมาส ๑/๒๕๖๕ และจะทยอยติดตั้งอีก ๔,๐๐๐ เครื่อง ภายในเดือนเมษายน ๒๕๖๕ และจะสามารถรู้รายได้ทั้งหมดในไตรมาส ๒/๒๕๖๕ โดยแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ระหว่างบริษัทและคู่สัญญาในอัตราร้อยละ ๖๐ และ ๔๐ ตามลำดับ ทั้งนี้ UPA จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) จำนวน ๓๐ เมกะวัตต์ (MW) สำหรับการดำเนินงานของเหมืองฯ
๓. สกุลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ UPA ลงทุน
UPA ลงทุนในสกุล Bitcoin เป็นหลัก และอาจพิจารณาปรับเครื่องขุดคริปโทฯ บางส่วน เพื่อขุดคริปโทฯ ในสกุล Ethereum หรือ Litecoin ในอนาคต
ปัจจุบัน รัฐบาล สปป. ลาว มีนโยบายสนับสนุนทรัพย์สินดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป. ลาว ออกข้อตกลงว่าด้วยการทดลองธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมการขุดและการซื้อขายคริปโทฯ สำหรับผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าวต้องเป็นบริษัทของคนลาวที่มีความมั่นคง ด้านการเงินและมีทุนเพียงพอ โดยในการขุดเหมืองจะต้องใช้ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ (MW) มีอายุสัมปทาน ๖ ปี และสามารถต่อสัญญาได้ตามความสามารถในการตอบสนองไฟฟ้าของ EDL สำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดำเนินธุรกิจขุดเหมืองฯ มีจำนวน ๕ แสนดอลลาร์สหรัฐ/ใบอนุญาต บริษัทขุดเหมืองฯ จะต้องชำระภาษีแบบเหมา จากปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ และจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ให้บริการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ใบอนุญาตต้องวางเงินค้ำประกันกับธนาคารแห่ง สปป. ลาว จำนวน ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องชำระภาษีแบบเหมาในอัตราร้อยละ ๑๕ ของค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการทำธุรกรรมของผู้ซื้อและผู้ขาย ล่าสุด ธนาคารแห่ง สปป. ลาว อนุญาตให้ ๒ บริษัทดำเนินธุรกิจศูนย์แลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัล ได้แก่ ๑) บริษัท Lao Digital Assets Exchange Co.: LDX ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างกลุ่มบริษัท AIF Group กับกลุ่มบริษัท Phongsupthavy Group และ ๒) บริษัท Bitqik ของธนาคารพัฒนาลาว (Joint Development Bank: JDB) บริษัทในเครือ Simuong Group โดยจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน ๒๕๖๕
เครดิตภาพ: บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน)
แหล่งอ้างอิง
๑. บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) สืบค้นวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๕<https://www.unitedpowerofasia.com/th/home>
๒. ผู้จัดการออนไลน์ <https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000014928> ประจำวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๓. หนังสือบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ UPA 007-2565 ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการเข้าลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
๔. ผู้จัดการออนไลน์ <https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000024360> ประจำวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕
๕. ผู้จัดการออนไลน์ <https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000114914> ประจำวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๖. BIC Weekly News สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จากหนังสือพิมพ์ Vientiane Times ประจำวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๗. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า ประจำวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๒
๘. Facebook: AIF GROUP ประจำวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๒
๙. กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ข้อตกลงว่าด้วยการทดลองธุรกรรมทรัพย์สินดิจิทัล เลขที่ ๘๘๘/กตส ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๑
********