บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ร่วมมือกับรัฐบาลสัมปทานโครงการท่าบกท่าแขกเพื่อพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของ สปป. ลาว

บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ร่วมมือกับรัฐบาลสัมปทานโครงการท่าบกท่าแขกเพื่อพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,650 view

          เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ นางคำจัน วงแสนบุน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนและนายพุดพอนไซ หลวงลาด ผู้อำนวยการบริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ร่วมลงนามสัญญาสัมปทานโครงการท่าเรือบกท่าแขก ที่กระทรวงแผนการและการลงทุน นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีเจ้าแขวงคำม่วน รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาสัมปทาน ๓๐ ปี มูลค่าการลงทุน ๑๕.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ได้ก่อตั้งและลงนามสัญญาร่วมทุนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยรัฐบาล สปป. ลาว (รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน) ร้อยละ ๓๐ และฝ่ายเอกชนร้อยละ ๗๐ (บริษัท เกรทเตอร์แม่โขงโลจิสติกส์ จำกัด เป็นผู้แทนถือหุ้นของ ๓ บริษัท) โดยให้บริการยกและเปลี่ยนถ่ายสินค้า คลังสินค้า ลานจอดเพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ขาเข้า - ขาออก ระบบควบคุมข้อมูลการแจ้งภาษีการบริการ ชั่งน้ำหนัก บรรจุหุ้มห่อ จัดส่งสินค้า และเปลี่ยนถ่ายสินค้าเพิ่มเติม

          โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าของ สปป. ลาว มุ่งเน้นการพัฒนาท่าบกให้เป็นประตูหน้าด่านในการเข้า - ออกของสินค้าระหว่างประเทศ ผลักดัน สปป. ลาว ให้กลายเป็นศูนย์กลางการบริการและการขนส่งของภูมิภาคและสากลผ่านด่านชายแดนแขวงคำม่วน ทั้งยังเป็นการพัฒนาท่าบกใน สปป. ลาว ที่สอดคล้องกับนโยบายเปลี่ยนประเทศจาก “ประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเล” ไปสู่ “ประเทศเชื่อมโยงเชื่อมต่อ” หรือ “ประเทศบริการทางผ่านด้านการคมนาคมขนส่ง” เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการขนส่งของ สปป. ลาว และจะทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการรวบรวมและกระจายสินค้า และระบบบริการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและครบวงจรเพื่อลดการเปลี่ยนถ่ายสินค้าแบบกระจัดกระจายและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจ สปป. ลาว ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบวงจร

          เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มีความเหมาะสมทั้งทางด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และปริมาณการจราจรสินค้าระหว่างประเทศที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อทั้ง ๔ ทิศทาง มีความสะดวกในการเข้าถึงเส้นทางหมายเลข ๑๒ เชื่อมกับจังหวัดนครพนมของไทยไปยังเมืองจาลอของเวียดนาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุดจาก สปป. ลาว ไปสู่เวียดนาม และยังมีศักยภาพด้านการบริการทางผ่านและอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสดึงสินค้าเข้ามาใช้บริการได้ สามารถรองรับสินค้าจากแขวงใกล้เคียง และนำเข้าสินค้าจากไทยส่งออกไปยังเวียดนามเพื่อส่งต่อไปจีน ทำให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของภาคกลาง สปป. ลาว

 

11

เครดิตภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

 

แหล่งอ้างอิง

          ๑. หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา (บริษัท ท่าบกท่าแขก จำกัด ร่วมมือกับรัฐบาลสัมปทานโครงการท่าเรือบกท่าแขกเพื่อพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าของ สปป. ลาว) วันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๒

**************