ขั้นตอน ค่าธรรมเนียมและระยะเวลา การจดทะเบียนวิสาหกิจใน สปป.ลาว

ขั้นตอน ค่าธรรมเนียมและระยะเวลา การจดทะเบียนวิสาหกิจใน สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,969 view

          เช่นเดียวกับทุกประเทศการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตการลงทุน โดยต้องจดทะเบียนวิสาหกิจก่อนที่จะสามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้

          ผู้ลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศที่จะดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนของกิจการแต่ละประเภท ดังนี้

          ๑. กิจการในบัญชีควบคุมหรือกิจการสัมปทาน ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตลงทุนและขึ้นทะเบียนวิสาหกิจตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน เลขที่ ๑๔/สพช ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๖

          ๒. กิจการนอกบัญชีควบคุม ให้ยื่นคำร้องแจ้งขึ้นทะเบียนวิสาหกิจกับแขนงอุตสาหกรรมและการค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจ เลขที่ ๔๖/สพช ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓

              - กิจการที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจ เจ้าหน้าที่ทะเบียนวิสาหกิจจะระบุกิจการดังกล่าวที่ด้านหลังใบทะเบียนวิสาหกิจ

              - กิจการที่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจ เจ้าหน้าที่ทะเบียนวิสาหกิจจะทำหนังสือแนะนำให้วิสาหกิจ เพื่อนำไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นขออนุญาตดำเนินธุรกิจ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยไม่ระบุกิจการดังกล่าวที่ด้านหลังทะเบียนวิสาหกิจ

๑. การจดทะเบียนวิสาหกิจ

          ก. สถานที่ยื่นคำร้องแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจ

             ๑. ส่วนกลาง หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สำหรับการจดทะเบียน วิสาหกิจต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจหุ้นส่วน บริษัทและวิสาหกิจส่วนบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนวิสาหกิจตั้งแต่ ๕๐๐ ล้านกีบขึ้นไป (ประมาณ ๑.๖ ล้านบาท) ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงอื่นที่มีความจำเป็น โดยจะมีประกาศแจ้งเฉพาะในแต่ละระยะ

             ๒. แขวง หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวง สำหรับการจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจหุ้นส่วน บริษัท(ยกเว้นบริษัทมหาชน) และวิสาหกิจส่วนบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนวิสาหกิจตั้งแต่ ๕๐๐ ล้านกีบขึ้นไป ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์หรือแขวง

             ๓. เมือง หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ห้องการอุตสาหกรรมและการค้าเมือง สำหรับการจดทะเบียน สหกรณ์ และวิสาหกิจส่วนบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านกีบลงมา ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานหรือธุรกิจที่เมืองหรือนคร

          ข. เอกสารคำร้องแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจ

              - เอกสารแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจส่วนบุคคล

                ๑. คำร้องแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจส่วนบุคคล

                ๒. ใบแจ้งรายการกิจการที่เสนอประกอบธุรกิจ

              - เอกสารแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจหุ้นส่วนหรือบริษัท

                ๑. คำร้องแจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจหุ้นส่วนหรือบริษัท

                ๒. ใบแจ้งรายการกิจการที่เสนอประกอบธุรกิจ

                ๓. สัญญาการจัดตั้งวิสาหกิจ (ยกเว้นบริษัทจำกัดส่วนบุคคล)

          ในกรณีที่ นิติบุคคลเป็นผู้แจ้งจดทะเบียนวิสาหกิจต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากวิสาหกิจแม่

          ในใบแจ้งรายการกิจการที่เสนอประกอบธุรกิจผู้ลงทุนสามารถระบุได้ตามระเบียบต่าง ๆ ดังนี้

                    ๑. กิจการในบัญชีควบคุม ตามดำรัสของนายก ฉบับเลขที่ ๐๓/นย ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๙               

                    ๒. กิจการนอกบัญชีควบคุม ตามระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                        นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังต้องพิจารณาถึงกิจการที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                           ๑) กิจการที่มีเงื่อนไขสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศ

                           ๒) กิจการที่สงวนไว้สำหรับพลเมืองลาว

                           ๓) กิจการต้องห้าม

และนอกจากเอกสารที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ลงทุนยังต้องจัดทำเอกสารประกอบตามแบบฟอร์มเฉพาะและต้องแนบเอกสารที่ระบุไว้ในหมายเหตุของเอกสารดังกล่าวนั้นมาด้วย

          ค. ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาจดทะเบียนวิสาหกิจ

              ๑. จัดทำเอกสารประกอบแจ้งต่อหน่วยงานอุตสาหกรรมและการค้าตามการแบ่งระดับการพิจารณาที่กำหนดในข้อ ก.

              ๒. ภายหลังจากที่ได้รับเอกสารแล้วเจ้าหน้าที่ทะเบียนวิสาหกิจต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ ของข้อตกลงฉบับเลขที่ ๐๐๒๓/อค.กทคว ลงวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๙ ให้เสร็จภายใน ๑ ชั่วโมง แล้วแจ้งตอบผู้ยื่นคำร้องทันทีในกรณี ดังนี้

                  ๒.๑ เอกสารถูกต้องและครบถ้วนจะมอบใบรับเอกสารให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง โดยมี วันและเวลาที่รับเอกสารและวันนัดหมายมารับใบทะเบียนวิสาหกิจช้าสุดไม่เกิน ๑๐ วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ออกใบรับเอกสารเป็นต้นไป

                  ๒.๒ เอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน จะต้องแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบทันที และจะทำหนังสือแนะนำให้ไปปรับปรุงแก้ไขและลงนามผู้แนะนำในเอกสารดังกล่าว ภายหลังจากปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒.๑

          ง. ค่าบริการและค่าธรรมเนียมการออกใบทะเบียนวิสาหกิจ

              ๑. ค่าบริการ

                  ๑.๑ ค่าแบบพิมพ์

รายการ

ค่าใช้จ่าย/กีบ

- วิสาหกิจส่วนบุคคล (ห้างหุ้นส่วนบุคคลเดียว)

๑๐,๐๐๐

- วิสาหกิจหุ้นส่วนสามัญ (ห้างหุ้นส่วนสามัญ)

๖๐,๐๐๐

- วิสาหกิจหุ้นส่วนจำกัด (ห้างหุ้นส่วนจำกัด)

๖๐,๐๐๐

- บริษัทจำกัด

๖๐,๐๐๐

- บริษัทจำกัดบุคคลเดียว

๕๐,๐๐๐

- บริษัทมหาชน

๖๐,๐๐๐

- สหกรณ์

๖๐,๐๐๐

- สาขาวิสาหกิจ (นิติบุคคลต่างประเทศ)

๑๐,๐๐๐

- คำร้องการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเอกสาร

๑๐,๐๐๐

                  ๑.๒ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

รายการ

ค่าใช้จ่าย / กีบ

- พิมพ์ทะเบียนวิสาหกิจ

๓๐,๐๐๐ / ๑ ชุด

- รับรองการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเอกสาร

๓๐,๐๐๐ / ๑ ชุด

- ลงทะเบียนก่อตั้งสาขาภายในประเทศ

๑๐๐,๐๐๐ / สาขา

- ลงทะเบียนแจ้งยุบเลิกชั่วคราวหรือถาวร

๕๐,๐๐๐ / ครั้ง

- ลงทะเบียนสิ้นสุดการชำระเงินเสร็จสิ้น

๕๐,๐๐๐ / ครั้ง

- ค่าถ่ายสำเนาเอกสาร

๒,๐๐๐ / ๑ แผ่น

              ๒. ค่าธรรมเนียมการออกใบทะเบียนวิสาหกิจ

รายการ

ค่าใช้จ่าย/กีบ

- ตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กีบลงมา

ไม่มี

- มากกว่า ๑ ล้านกีบ – ๑๐ ล้านกีบ

๒๐,๐๐๐

- มากกว่า ๑๐ ล้านกีบ – ๒๐ ล้านกีบ

๕๐,๐๐๐

- มากกว่า ๒๐ ล้านกีบ – ๕๐ ล้านกีบ

๑๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๕๐ ล้านกีบ – ๑๐๐ ล้านกีบ

๓๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๑๐๐ ล้านกีบ – ๔๐๐ ล้านกีบ

๕๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๔๐๐ ล้านกีบ – ๑ พันล้านกีบ

๑,๐๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๑ พันล้านกีบ – ๑ หมื่นล้านกีบ

๒,๐๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๑ หมื่นล้านกีบ – ๒ หมื่นล้านกีบ

๓,๐๐๐,๐๐๐

- มากกว่า ๒ หมื่นล้านกีบ

๕,๐๐๐,๐๐๐

 

๒. การขออนุญาตดำเนินธุรกิจภายหลังการจดทะเบียนวิสาหกิจ

    ๑. ระยะเวลาที่ต้องยื่นเอกสารขออนุญาตดำเนินธุรกิจ

        ภายในเวลากำหนด ๙๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเป็นต้นไป วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องต้องไปยื่น ขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกิจการใดกิจการหนึ่งตามที่ระบุไว้ในหนังสือแนะนำให้วิสาหกิจในกิจการที่ต้องขออนุญาต เว้นแต่มีกิจการใดกิจการหนึ่งที่ได้ระบุไว้ด้านหลังใบทะเบียนวิสาหกิจนั้นแล้ว

        วิสาหกิจที่ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจก่อนการประกาศใช้ข้อตกลงฉบับเลขที่ ๐๐๒๓/อค.กวทคว ลงวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๙ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจ ให้ดำเนินการต่อไปได้ หากต้องการดำเนินธุรกิจในกิจการใดกิจการหนึ่งเพิ่มเติม สามารถยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง

    ๒. สถานที่ยื่นเอกสาร ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำร้องขออนุญาต

        ภายหลังขึ้นทะเบียนวิสาหกิจแล้ว กิจการนอกบัญชีควบคุมให้ยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไข ขั้นตอนและระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ๓. เอกสารคำร้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย       

        ๑) ใบทะเบียนวิสาหกิจและหนังสือแนะนำของเจ้าหน้าที่ทะเบียนวิสาหกิจ

        ๒) เอกสารคำร้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจตามระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

**************

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต

๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓

 

ที่มา – กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว

ดาวโหลดแบบฟอร์มการจดทะเบียนวิสาหกิจ : http://www.ned.gov.la/index.php/downloads-la/download-forms-la

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท เท่ากับ ๓๑๕ กีบ