สิงคโปร์รุกตลาดพลังงานไฟฟ้าความร้อนจากถ่านหินที่แขวงเซกอง สปป.ลาว

สิงคโปร์รุกตลาดพลังงานไฟฟ้าความร้อนจากถ่านหินที่แขวงเซกอง สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,465 view

         บริษัท Evolution Power Investment Corporation (EPIC) และ บริษัท Kuounmixay Bridge and Road Construction and Repair Company (KMX) ซึ่งเป็นบริษัทกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่างสิงคโปร์กับ สปป.ลาว ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินสะอาดที่เมืองดากจึง สปป.ลาว

          โครงการดังกล่าว มีมูลค่า ๑.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ เพื่อส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ไทย เวียดนามและกัมพูชา โดยคาดว่าการก่อสร้างโครงการจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๗๐

          บริษัท Evolution Power Investment Corporation (EPIC) เป็นบริษัทพัฒนาพลังงานพื้นฐานและให้คำปรึกษาด้านการพัฒนา การเงิน การค้าและการบริการทางวิศวกรรมพลังงานและภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสิงคโปร์ โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทและเจ้าของโครงการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าการลงทุนระหว่าง ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง ๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

          บริษัท Kuounmixay Bridge and Road Construction and Repair Company (KMX) ประกอบกิจการด้านการก่อสร้างตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีประสบการณ์ในการก่อสร้างและการซ่อมแซมถนนและสะพาน รับผิดชอบกิจการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากในหลายแขวงทางภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แขวงเซกอง

          ข้อมูลเพิ่มเติม

          ๑. ประเมินว่าใน สปป.ลาว มีปริมาณถ่านหินสำรองระหว่าง ๖๐๐ – ๗๐๐ ล้านตัน ประกอบด้วย ถ่านหินลิกไนต์ (Lignite) และถ่านหินแอนทราไซต์ (Anthracite) แหล่งถ่านหินที่สำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ ถ่านหินลิกไนต์ที่แอ่งหงสา หลวงน้ำทา และเชียงขวาง และถ่านหินแอนทราไซต์ ที่แอ่งเวียงจันทน์ แอ่งสาละวัน และพงสาลี

          ๒. ถ่านหินส่วนใหญ่จะใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงงานปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยมีความต้องการบริโภคภายในประมาณ ๑๔,๖๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี

          ๓. ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ สปป.ลาว ผลิตถ่านหินแอนทราไซต์ (Anthracite) ได้จำนวน ๑๐๖,๐๒๘ ตัน ๑๓๘,๘๐๙ ตัน ๑๓๓,๒๘๔ ตัน และ ๑๔๒,๙๙๔ ตัน ตามลำดับ และผลิตถ่านหินลิกไนต์ (Lignite) ได้จำนวน ๔,๔๖๔,๐๖๘ ตัน ๑๓,๐๙๗,๑๒๑ ตัน ๑๓,๔๓๙,๔๙๒ ตัน และ ๑๕,๙๐๓,๒๗๗ ตัน ตามลำดับ

          แหล่งอ้างอิง

                    ๑. Lao Government Approves Singaporean Clean Thermal Project, laotiantimes, https://laotiantimes.com/2020/05/29/lao-government-approves-singaporean-clean-thermal-project/

                    ๒. Govt okays Singaporean-Lao feasibility study for clean thermal power plant, Vientiane Times, http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt106.php

                    ๓. สถิติประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๖ ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว, มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๗

                    ๔. สถิติประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๗ ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว, มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๘

                    ๕. สถิติประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว, กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๙

                    ๖. Lao people's Democratic Republic Energy Sector Assessment, Strategy and Road Map, Asian Development Bank, November 2019

**************

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต

๕ มิถุนายน ๒๕๖๓