พื้นที่เขตภัยพิบัติเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงอัดตะปือ สปป.ลาว จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

พื้นที่เขตภัยพิบัติเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงอัดตะปือ สปป.ลาว จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,056 view

         เมื่อปี ๒๕๖๑ แขวงอัดตะปือประสบปัญหาภัยพิบัติขั้นรุนแรง เมื่อเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ตลอดช่วงเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมา แขวงอัดตะปือระดมงบประมาณเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยนอกจากจะมีความคืบหน้าเป็นอย่างดีแล้ว แขวงอัดตะปือมีแนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วย

          ในด้านการฟื้นฟูพื้นที่และความเป็นอยู่ของประชาชน แขวงอัดตะปือลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกับ  บริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีรายละเอียดหลัก ๒ ส่วน ได้แก่ ๑) การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต เด็กกำพร้า ครอบครัว บริษัทห้างร้าน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ มูลค่า ๔๗๕ พันล้านกีบ และ ๒) การจ่ายค่าชดเชยตามแผนแม่บทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มูลค่า ๓๕๓ พันล้านกีบ รวมมูลค่าทั้งหมด ๘๒๓ พันล้านกีบ (ประมาณ ๒,๗๔๓.๓๓ ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังบุกเบิกพื้นที่การเกษตรแห่งใหม่ที่เขตดอนบก-ท่าแสงจัน ให้กับผู้ประสบภัยใช้เป็นที่ทำการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูคลองชลประทานห้วยสมองและมอบพันธุ์ข้าวให้กับประชาชน การดำเนินการดังกล่าว แสดงให้เห็นความพยายามของแขวงอัดตะปือที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านเสบียงอาหาร ค่าใช้จ่าย ที่พักอาศัย และพื้นที่ทำกิน

          นอกจากนี้ ในการประชุมเพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่ของหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านใหม่ บ้านหินลาด บ้านท่าหิน และบ้านท่าแสงจันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของแขวง โดยจะอนุรักษ์พื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง เช่น วัด โรงเรียน สำนักงาน บ้านเรือนของประชาชนที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ภัยพิบัติให้คงอยู่ตามเดิม รวมทั้ง จะพัฒนาน้ำตกตาดแซพะ-แซป้องไล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และมีความสวยงามที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำเซเปียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นกันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแขวง โดยได้ให้สัมปทานแก่เอกชนในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเข้า-ออก การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ร้านอาหาร บ้านพัก รีสอร์ท สวนดอกไม้ และอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖

          อนึ่ง เมืองสะหนามไซซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ ๗-๘ ต่อปี มูลค่า GDP ประมาณ ๒๔๘.๔๗ พันล้านกีบ (ประมาณ ๘๒๘.๒๓ ล้านบาท) แบ่งเป็น ภาคการเกษตรร้อยละ ๓๘.๘๖ ภาคอุตสาหกรรมและหัตถกรรมร้อยละ ๔๐.๐๙ และภาคบริการร้อยละ ๒๑.๐๔ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร จำนวน ๗๖๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

******************

แหล่งอ้างอิง

๑. รับรองผลเจรจามูลค่าชดเชยจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย, หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-สังคม, ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓,  

     http://sethakit-psx.la/detail5350.html

๒. เจ้าแขวงอัดตะปือ ผลักดันการฟื้นฟูภัยพิบัติจากคันกั้นน้ำของเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก,

    Facebook : ข่าวสารพลังงานและบ่อแร่, ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๓. แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยวแขวง หารือวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเขตภัยพิบัติเมืองสะหนามไซ,

    Facebook : Attapeu Media, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๔. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน้ำตกตาดเซพะ-แซป้องไล จะสำเร็จใน ๓ ปี, Vientiane Timese ภาษาลาว,

    ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓, https://www.vientianetimeslao.la

๕. เปิดแล้ว การประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เมืองสะหนามไซ ครั้งที่ ๑๒, Facebook : Attapeu Media,  

    ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓