วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
การดำเนินธุรกิจอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ สืบเนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยทั่วไป การแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะขึ้นอยู่กับสาระในสัญญาที่อาจกำหนดวิธีการแก้ไขความขัดแย้งไว้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งไว้ เว็บไซด์ Target Magazine แนะนำแนวทางการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้
๑. การแก้ไขความขัดแย้งด้วยการประนีประนอม
ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจแจ้งให้แก่อีกฝ่ายทราบถึงการละเมิดสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแสดงการไม่ยอมรับหรือไม่เห็นชอบกับการละเมิดดังกล่าว อย่างไรก็ดี การแก้ไขในลักษณะนี้มักไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีคนกลางเป็นผู้เจรจาและไม่มีมาตรการทางกฎหมายใช้บังคับต่อคู่สัญญา แนวทางนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความจริงใจและความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของคู่กรณี
การแจ้งรายละเอียดของการละเมิดสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร สามารถใช้เป็นหลักฐานเมื่อมีการดำเนินการตามกฎหมายในขั้นต่อไป ทั้งนี้ หากสามารถตกลงกันได้ วิธีการนี้จะช่วยรักษาความลับทางธุรกิจ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และรักษาน้ำใจของคู่ค้าทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
๒. การแก้ไขความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย
การไกล่เกลี่ยเป็นการแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการปรึกษาหารือ ประนีประนอม และเจรจาโดยผู้ไกล่เกลี่ยหรือคณะกรรมการไกล่เกลี่ย มาตรา ๒๕ ของกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ฉบับปรับปรุง ปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ระบุให้สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ที่ศูนย์แก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Dispute Resolution Center –EDRC) กระทรวงยุติธรรม สปป.ลาว รวมทั้งสามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยที่ศูนย์หรือสำนักงานไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจที่ต่างประเทศได้ การไกล่เกลี่ย เป็นการตกลงที่จะแก้ไขปัญหาตามความพอใจ ของคู่กรณี โดยไม่มีการบังคับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คู่กรณีสามารถตกลง ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาโดยไม่มีการระบุว่าใครผิดหรือถูก
ผลการไกล่เกลี่ยจะถูกทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงหากมีการดำเนินการทางกฎหมายในภายหลัง และจะมีผลบังคับทางกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ตกลงกันเป็นต้นไป โดยหากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายสามารถร้องขอต่อศาลประชาชนแขวงหรือนครหลวงเวียงจันทน์ ให้พิจารณาตัดสินชี้ขาดได้ มาตรา ๕๒ ของกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ระบุให้ศาลประชาชนต้องพิจารณาตัดสินภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยศาลจะไม่พิจารณาเนื้อหาของข้อขัดแย้ง แต่จะดูความถูกต้องทางด้านกฎหมายเท่านั้น คำตัดสินจะมีผลทันทีและไม่สามารถอุทธรณ์ได้
๓. การแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยการตัดสิน
มาตรา ๓๔ ของกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๘ การแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยการตัดสินเป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยผู้ตัดสินหรือคณะกรรมการตัดสินข้อขัดแย้งของคู่กรณี การแก้ไขข้อขัดแย้งรูปแบบนี้เป็นที่นิยมของนักธุรกิจทั่วโลก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ที่ศูนย์แก้ไขข้อขัดแย้งทางเศรษฐกิจ กระทรวงยุติธรรม สปป.ลาว หรือจะดำเนินการที่ศูนย์หรือสำนักงานแก้ไขข้อขัดแย้งที่ต่างประเทศก็ได้ คู่กรณีจะมีส่วนพิจารณาคัดเลือกผู้ตัดสินหรือคณะกรรมการตัดสินได้ โดยจะดำเนินการตัดสินข้อขัดแย้งตามระเบียบกฎหมายบนพื้นฐานของสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคู่กรณีมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย
ผลของการตัดสินจะมีผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งคู่กรณีต้องยอมรับและปฏิบัติเช่นเดียวกันกับคำพิพากษาของศาล ในกรณีที่อีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม คู่กรณีมีสิทธิเสนอต่อศาลเพื่อตัดสินชี้ขาดได้ตามมาตรา ๕๒ และจะใช้เวลาในการตัดสิน ๓ เดือน ตามมาตรา ๓๗ ของกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๘
๔. การตัดสินโดยศาลประชาชน
การแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยการฟ้องร้องนักธุรกิจส่วนใหญ่มักเลือกเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายหรือเป็นวิธีทางออกสุดท้าย เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลใช้เวลานาน กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ได้รับความเสียหายพยายามแก้ไขปัญหาในทุกด้านแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ การดำเนินคดีโดยศาลประชาชนของ สปป.ลาว แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ศาลขั้นต้น ศาลขั้นอุทธรณ์ และศาลขั้นลบล้าง (ศาลฎีกา)
๔.๑ ศาลขั้นต้น (ศาลประชาชนแขวง/นคร)
สำหรับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจเป็นคดีการค้า ซึ่งจะต้องยื่นคำฟ้องร้องต่อคณะศาลการค้าของศาลประชาชนแขวง/นคร ศาลจะตัดสินคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๙ เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้พิพากษาได้รับสำนวนคดี ตามมาตรา ๓๐ ข้อ ๑ ของกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่ง ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๒
๔.๒ ศาลขั้นอุทธรณ์ (ศาลประชาชนเขต)
ภายหลังที่ศาลขั้นต้นตัดสินแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจมีสิทธิขออุทธรณ์ไปยังศาลขั้นอุทธรณ์ (ศาลประชาชนเขต) ภายใน ๒๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลขั้นต้นลงความเห็น ศาลขั้นอุทธรณ์ต้องพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๔ เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้พิพากษาได้รับสำนวนคดี ตามมาตรา ๓๐ ข้อ ๒ ของกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่ง ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๒
๔.๓ ศาลขั้นลบล้าง (ศาลประชาชนสูงสุด)
ภายหลังศาลขั้นอุทธรณ์ได้พิพากษาแล้ว ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ มีสิทธิขอลบล้างคำพิพากษาไปยังศาลขั้นลบล้าง (ศาลประชาชนสูงสุด) ภายในเวลา ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลขั้นอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือวันรับทราบคำพิพากษา ซึ่งศาลขั้นลบล้างต้องพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้พิพากษาได้รับสำนวนคดี ตามมาตรา ๓๐ ข้อ ๓ ของกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่ง ฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. ๒๐๑๒
ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้น ศาลจะเรียกคู่ความเข้าไปให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคดี รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดข้อขัดแย้งหรือเรียกขอเอกสารต่าง ๆ กับคู่ความ และเปิดประชุมศาล เพื่อทำการตัดสินหรือพิพากษาคดี
* * * * * * * * * * *