ด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๒ คาดหมายว่า ในปี ๒๕๖๒ จะสามารถเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมได้ ๕๑๐ พันล้านกีบ หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๕.๖๘ ของแผนที่ประมาณการไว้ที่ ๕๓๓ พันล้านกีบ โดยในช่วงสิบเดือนแรกของปี ๒๕๖๒ สามารถจัดเก็บได้ ๔๐๔ พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ ๙๔.๗๒ ของแผน ลดลงร้อยละ ๕.๒๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
รายได้ที่ลดลงข้างต้นเกิดจากการนำเข้าน้ำมัน และยานพาหนะที่ลดลง นอกจากนี้ สืบเนื่องจากข้อตกลงของรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ฉบับเลขที่ ๑๙๐๓/กผท.ลท๒ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ให้ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต ทำให้มูลค่าการเก็บภาษีนำเข้าในส่วนยานพาหนะและอะไหล่ลดลงถึงร้อยละ ๕๘.๓๔ โดยเฉพาะบริษัทออโต้เวินโคลาวเดเวล็อบปิ๊งได้รับการยกเว้นภาษีสูงถึง ๓๓ พันล้านกีบ
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายรับจากการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าลดลง แต่การเก็บค่าธรรมเนียมรถและคนที่ผ่านเข้า – ออกด่าน ในช่วง ๑๐ เดือนเพิ่มขึ้น โดยสามารถเก็บได้ ๕๕ พันล้านกีบ สูงกว่าเป้าหมายที่ระบุให้เก็บได้ประมาณ ๓๖ พันล้านกีบ นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บภาษีสินค้าอุปโภค บริโภค ได้เกินแผนที่ตั้งไว้ ๗๕ พันล้านกีบ โดยสามารถเก็บได้ ๘๕ พันล้านกีบ
ด่านศุลกากรสากลสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๒ มีหน่วยงานศุลกากร ๔ หน่วยได้แก่ หน่วยงานคุ้มครองการสำแดง หน่วยงานคุ้มครองคลังสินค้าและตรวจสินค้า หน่วยงานคุ้มครองพาหนะและผู้โดยสาร หน่วยงานคุ้มครองและบริหารงานภาษี โดยทำหน้าที่การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากด่านสากลสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๒ ด่านท้องถิ่นท่าเรือผู้โดยสาร และด่านประเพณี ๔ แห่งได้แก่ ด่านประเพณีเซบั้งไฟ ด่านประเพณีเหล่าหมากหูด ด่านประเพณีดอนหวายและด่านประเพณีท่าประชุม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ที่มา - เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๒