เส้นทางรถไฟลาว – เวียดนาม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี ๒๕๖๔

เส้นทางรถไฟลาว – เวียดนาม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,718 view

          เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ รัฐบาล สปป.ลาว จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการศึกษา สำรวจ   และพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟลาว – เวียดนาม จากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ถึงชายแดนลาว – เวียดนาม ระหว่างนางคำจัน วงแสนบุน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน กับนายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัท ปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มหาชน ณ โรงแรมแลนด์มาร์คแม่โขงริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีนายอาลุนแก้ว กิดติคุน รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายบุนจัน สินนะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำ สปป.ลาว และนายโอได สุดาพอน เจ้าแขวง แขวงคำม่วน เป็นสักขีพยาน

          โครงการเส้นทางรถไฟข้างต้น เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง สปป.ลาว กับอาเซียน มีจุดเริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ถึงชายแดนลาว – เวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อไปจนถึงท่าเรือหวุงอาง (Vung Ang) จังหวัดฮาติงห์ เวียดนาม คิดเป็นระยะทางประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร จากนั้นเมื่อได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนามแล้ว จะทำการศึกษาเพิ่มเติมจากชายแดนลาว – เวียดนาม ไปยังท่าเรือหวุงอาง (Vung Ang) คิดเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด ๒๗๐ กิโลเมตร ขนาดของทางรถไฟจะเป็นรถไฟประเภททางเดี่ยวตามมาตรฐานสากล เพื่อใช้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้า มีความเร็วประมาณ ๙๐ – ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีจากประเทศอินโดนีเซีย

          นายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัท ปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มหาชน กล่าวว่า จะสามารถสรุปผลการออกแบบได้ภายใน ๘ เดือน ถึง ๑ ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเป็นทางการ หากได้รับการอนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี ๒๕๖๔ และจะใช้เวลาในการก่อสร้าง ๓ ปี แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ต้องรอให้ผลการสำรวจและศึกษาเสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถสรุปรูปแบบของการลงทุนได้ว่าจะดำเนินการในรูปแบบ Build – Operate – Transfer (BOT) หรือ Public – Private – Partnership (PPP)

          อนึ่ง การจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางรถไฟลาว – เวียดนาม ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว กับเวียดนามว่าด้วยการค้นคว้าศักยภาพในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ – หวุงอาง ที่มีการลงนามในช่วงที่นายเหงียน ฟู จ่อง ประธานาธิบดีเวียดนาม และคณะเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          ๑. แนวเส้นทางรถไฟตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ถึง ท่าเรือหวุงอาง เวียดนาม มีความยาวทั้งหมด ๕๕๕ กิโลเมตร ผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว และจังหวัดกวางบิงห์ จังหวัดฮาติงห์ ของเวียดนาม

          ๒. สองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันกำหนดแนวเส้นทางรถไฟตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์ ถึงท่าเรือหวุงอาง ผ่านเขตชายแดนของสองประเทศ บริเวณจุดที่ตั้งอุโมงค์รถไฟใกล้กับด่านชายแดนนาเพ้า แขวงคำม่วน สปป.ลาว – ด่านชายแดนจาลอ จังหวัดกวางบิงห์ เวียดนาม   

          ๓. แนวทางรถไฟ

              ๓.๑ แนวเส้นทางรถไฟใน สปป.ลาว เริ่มตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์ ตามทางหลวงแห่งชาติ หมายเลข
๑๓ ใต้ ผ่านแขวงบอลิคำไซ ถึงเมืองท่าแขกแขวงคำม่วน แล้วเลี้ยวซ้ายขนาบไปตามเส้นทางหมายเลข ๑๒ ถึงด่านชายแดนนาเพ้า ชายแดนลาว – เวียดนาม

              ๓.๒ แนวเส้นทางรถไฟในเวียดนาม เริ่มจากท่าเรือหวุงอาง วิ่งขนาบด้านขวาของทางหลวงหมายเลข 12C ถึงจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข ๑ วิ่งขนาบด้านขวาของทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านอำเภอกี่แอง จังหวัดฮาติงห์ เลี้ยวซ้ายวิ่งขนาบด้านขวาของทางหลวงหมายเลข 12C ถึงดงเล วิ่งขนาบกับทางหลวงหมายเลข 12C ผ่านตำบลฮ่งหัว หัวฟุก หัวเตียน อำเภอมิงหัว ถึงสามแยกแคแว และวิ่งขนาบกับทางหลวงหมายเลข 12A ถึงมูยา ปาจง และด่านชายแดนจาลอ ชายแดนเวียดนาม – ลาว

              ๓.๓ การกำหนดรายละเอียดของแนวเส้นทางรถไฟ จะจัดทำขึ้นในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดของโครงการ โดยเริ่มจากผลการศึกษาเส้นทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดจัดทำโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (Korea International Cooperation Agency : KOICA)

              ๓.๔ ตามแผนการลงทุนของทั้งสองฝ่าย จะแบ่งการลงทุนออกเป็น ๒ ระยะ ประกอบด้วย

                    ๔.๑ ระยะที่ ๑ การลงทุนก่อสร้างทางรถไฟช่วงตั้งแต่เมืองท่าแขก – ท่าเรือหวุงอาง มีความยาวประมาณ ๒๔๒ กิโลเมตร (สปป.ลาว ๑๓๙ กิโลเมตร และเวียดนาม ๑๐๓ กิโลเมตร)

                    ๔.๒ ระยะที่ ๒ การลงทุนก่อสร้างทางรถไฟช่วงตั้งแต่เมืองท่าแขก – นครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ ๓๑๓ กิโลเมตร

* * * * * * * * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ