สภาวะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของ สปป.ลาว มีความผันผวน ในช่วง ๘ เดือน ของปี ๒๕๖๒

สภาวะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของ สปป.ลาว มีความผันผวน ในช่วง ๘ เดือน ของปี ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,278 view

          ขณะนี้ สภาวะอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินตราต่างประเทศใน สปป.ลาว ที่มีความผันผวนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว เป็นอย่างมาก

          ธนาคารแห่ง สปป.ลาว อธิบายถึงสาเหตุและสภาพปัญหาดังกล่าวว่า ในปี ๒๕๖๒ สภาวะตลาดการเงิน ระหว่างประเทศเกิดความผันผวน โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ซึ่งในช่วงระยะ ๘ เดือนแรกของปี ๒๕๖๒ เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ ๑.๕ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ ๓.๕๐ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและส่งผลกระทบให้เงินกีบเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทอ่อนค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก สปป.ลาว ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคการผลิตภายในยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต สภาวะดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระสินค้านำเข้าและบริการแต่ละปีในอัตราที่สูงมาก

          ปัญหาการอ่อนค่าของเงินกีบส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าและการดำรงชีวิตของประชาชนในภาพรวม ดังนั้น เพื่อป้องกันและจำกัดไม่ให้มีผลกระทบที่รุนแรง ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จึงดำเนินนโยบายควบคุมปริมาณเงิน  ในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดที่มีการคุ้มครอง

          อย่างไรก็ตาม เพื่อลดการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศ ในช่วงที่ประเทศมีความสามารถในการสร้างเงินตราต่างประเทศต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดการใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศ และเร่งผลักดันและส่งเสริมการลงทุนเพื่อการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามายัง สปป.ลาว ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ สปป.ลาว สามารถสร้างเงินตราต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในระบบเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ได้มากเพียงพอ อันจะเป็นหลักประกันให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

          ที่มา - ธนาคารแห่ง สปป.ลาว วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒