คำสั่งเลขที่ ๑๕/นย ของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น

คำสั่งเลขที่ ๑๕/นย ของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 767 view

          เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เลขที่ ๑๕/นย ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ว่าด้วยการเพิ่มมาตรการเข้มงวด ในการคุ้มครองไม้ การตรวจสอบเคลื่อนย้ายไม้และธุรกิจไม้ โดยมีนางเข็มมะนี พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เป็นประธาน พร้อมด้วยนายไซคำ อุ่นมีไซ รองประธานองค์การตรวจสอบรัฐบาล ผู้บริหารสมาคมเฟอร์นิเจอร์ลาว สมาคมแปรรูปไม้จาก ๗ แขวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

          ในการประชุมดังกล่าว นายมะโนฮัก ราชจัก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า ให้ข้อมูลจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมไม้ว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมไม้เลิกกิจการไป ๙๘๙ แห่ง คงเหลือจำนวน ๑,๑๑๓ แห่ง ประกอบด้วย โรงเลื่อยไม้ ๘ แห่ง โรงแปรรูปไม้สำเร็จรูป ๔๐๕ แห่ง และโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ๗๐๐ แห่ง ขณะที่ธุรกิจแปรรูปไม้ขนาดเล็กแบบครัวเรือน เลิกกิจการไป ๑,๒๑๑ แห่ง คงเหลือจำนวน ๑๔๑ แห่ง  คำสั่งนายกรัฐมนตรีข้างต้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมไม้ต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงมาตรฐานโรงงานและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้มีกระบวนการผลิตที่เป็นระบบ ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และรักษาสภาพแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน เกิดการสร้างโรงงานต้นแบบ และการจัดตั้งเครือข่ายการผลิตและแปรรูปไม้

          โรงงานในอุตสาหกรรมไม้ที่มีชื่อเสียงของ สปป.ลาว ได้แก่ โรงงานแปรรูปไม้สำเร็จรูปคำเกิด แขวงคำม่วน กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ลาวจำกัด โรงงานเฟอร์นิเจอร์เวียงนิยม นครหลวงเวียงจันทน์ โรงงานแปรรูปไม้ โซคไซ แขวงอุดมไซ โรงงานแปรรูปไม้ก้าวหน้าลาว แขวงไซยะบูลี โรงงานแปรรูปไม้ไซพัฒนา แขวงอัดตะปือ และโรงงานแปรรูปไม้และเฟอร์นิเจอร์ทินนากอน แขวงหลวงพระบาง

          นางมะนีวอน วงไซ รองอธิบดีกรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม ๒๕๖๑ มีการส่งออกไม้แปรรูป จำนวน ๖๔,๑๐๙.๗๗ ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๔๔.๓๘ คิดเป็นมูลค่ากว่า ๔๐.๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๗.๔๗๘  เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในปี ๒๕๖๐

                                                                   * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจสังคม วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ