สปป.ลาว กำลังพัฒนาประเทศให้กลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน (Battery of ASEAN) ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติการดำเนินการก่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ทำให้ สปป.ลาว มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงเกือบร้อยละ 100 และเหลือใช้เพื่อส่งออกต่อไปยังต่างประเทศ
ข้อมูลสถิติของแผนกวางแผนแหล่งผลิตไฟฟ้า กรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ปี 2559 ระบุว่า สปป.ลาว มีแผนที่จะพัฒนาโครงการไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 429 โครงการ โดยมีกำลังการติดตั้งไฟฟ้ารวมประมาณ 29,171 MW มีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้รวม 129,589 GWh/ปี แบ่งเป็น
(1) โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตแล้ว 40 โครงการ มีกำลังการติดตั้งไฟฟ้าประมาณ 6,290 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 33,590 GWh/ปี
(2) โครงการไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะสำเร็จก่อนปี 2563 มี 50 โครงการ มีกำลังการติดตั้งไฟฟ้าประมาณ 5,820 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 27,502 GWh/ปี
(3) โครงการไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะสำเร็จก่อนปี 2568 มี 35 โครงการ มีกำลังการติดตั้งไฟฟ้าประมาณ 4,147 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 20,106 GWh/ปี
(4) โครงการไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะสำเร็จก่อนปี 2573 มี 58 โครงการ มีกำลังการติดตั้งไฟฟ้าประมาณ 4,434 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 18,272 GWh/ปี
(5) โครงการไฟฟ้าที่ลงนาม MOU มีจำนวนมากถึง 246 โครงการ มีกำลังติดตั้งไฟฟ้าประมาณ 8,480 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 30,119 GWh/ปี
ณ ปัจจุบัน การก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้าใน สปป.ลาว สำเร็จแล้ว 51 แห่ง มีกำลังติดตั้งไฟฟ้ารวม 6,657 MW หรือมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ 34,749 GWh/ปี ประกอบด้วย
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ จำนวน 47 แห่ง
โครงการพลังงานไฟฟ้าความร้อนจากถ่านหิน 1 แห่ง
โครงการพลังงานไฟฟ้าจากกากอ้อย 2 แห่ง และ
โครงการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 1 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับมาดูความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศของ สปป.ลาว พบว่า
ปี 2558 มีความต้องการ จำนวน 759.89 MW
ปี 2559 จำนวน 827.82 MW
คาดว่าปี 2560 จะเพิ่มเป็น 1,579 MW และภายในปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในของ สปป.ลาว จะอยู่ที่ประมาณ 2,862MW ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในปี 2573 จะเพิ่มที่อยู่ที่ประมาณ 7,093 MW
ดังนั้น หากโครงการไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างสำเร็จตามแผนภายในปีที่กำหนด และความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ สปป.ลาว จะมีพลังงานไฟฟ้าเหลือมากพอที่จะส่งออกไปต่างประเทศตามนโยบายแบตเตอรี่แห่งอาเซียน (Battery of ASEAN) ของ สปป.ลาว
นอกจากการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว สปป.ลาว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า จากเดิมที่ทั่วประเทศมีระบบสายส่งประมาณ 10,000 กิโลเมตรและมีสถานีไฟฟ้าเพียง 15 แห่ง ในปี 2549 ภายในเวลา 10 ปี สปป.ลาว ได้พัฒนาระบบสายส่งแรงดันสูง แรงดันกลางและแรงดันต่ำที่มีความยาวทั้งหมดประมาณ 60,000 กิโลเมตร มีสถานีจ่ายไฟฟ้า 65 แห่ง มีระบบสายส่งแรงสูงที่เชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และจีน จำนวน 21 จุด ซึ่งแขวงต่าง ๆ ตามแนวชายแดนได้เชื่อมระบบโครงข่ายไฟฟ้า 22 kV เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานกับประเทศใกล้เคียง
การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งประเทศยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนลาว จึงเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบัน มีจำนวนหมู่บ้านที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้แล้วร้อยละ 87 และครอบครัวที่มีไฟฟ้าใช้แล้วร้อยละ 94.18 ของจำนวนครอบครัวทั้งหมด
ดร. คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์รายปักษ์ของกระทรวงฯ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2561 ว่าผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.22 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และ ข้อมูลจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ระบุว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่โตสูงขึ้นร้อยละ 11.61 ในปี 2560 ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นพื้นฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของ สปป.ลาว
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ทำความตกลงซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้นจาก 7,000 MW เป็น 9,000 MW ถึงแม้จะยังไม่มีความแน่ชัดจากฝ่ายไทยถึงแผนปริมาณและราคาที่รับซื้อไฟฟ้าจากลาว แต่รายได้จากการขายไฟฟ้าให้ไทยก็จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวอย่างแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของ สปป.ลาว
สำหรับการเข้ามาลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าใน สปป.ลาว นั้น รัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ลงทุนทั้งประเภทบุคคล และนิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกิจการเกี่ยวกับไฟฟ้า อาทิ การผลิตไฟฟ้า การส่ง การจำหน่าย การให้บริการไฟฟ้าอย่างเสมอภาค โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักการใหญ่ 4 ประการ คือ (1) จะต้องมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมแห่งชาติ (2) จะต้องมีประสิทธิผล ประหยัดและยั่งยืน (3) จะต้องมีการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมชาติ อันได้แก่ ชุมชน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และ (4) จะต้องมีการให้การรับประกันด้านความปลอดภัยด้วย ดังนั้น หากผู้ลงทุนมีความประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าใน สปป.ลาว ควรมีการศึกษาข้อมูลกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้รอบคอบ ครบถ้วน เพื่อเป็นการประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุน ความเสี่ยง ตลอดจนการคาดคะเนผลกำไรและขาดทุนให้ดีก่อนการตัดสินใจเข้ามาลงทุนต่อไป
****************************
ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจ
สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
14 มิถุนายน 2561