สิทธิพิเศษด้านการค้า สปป.ลาว

สิทธิพิเศษด้านการค้า สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,978 view

สิทธิพิเศษด้านการค้า สปป.ลาว

สิทธิพิเศษด้านการค้า

          สิทธิพิเศษด้านการค้า เป็นนโยบายพิเศษโดยการผ่อนผันหรือยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าแก่สินค้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจเป็นการให้แบบฝ่ายเดียวหรือแบบต่างฝ่ายต่างตอบแทน ตัวอย่างของการให้สิทธิพิเศษแบบฝ่ายเดียวเป็นระบบสิทธิพิเศษด้านการค้าแบบทั่วไป ที่ประเทศพัฒนาแล้วยกเว้นการเก็บภาษีจากสินค้าที่ส่งออกจากประเทศด้อยพัฒนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ สำหรับสิทธิพิเศษแบบต่างฝ่ายต่างตอบแทน หมายถึง การยกเว้นหรือผ่อนผันอัตราภาษีระหว่างกันที่ดำเนินการภายใต้สัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ

          สิทธิพิเศษทางด้านการค้าที่ สปป.ลาวได้รับ สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระบบ คือ (๑) สิทธิพิเศษแบบทั่วไป (๒) สิทธิพิเศษของประเทศกำลังพัฒนา และ (๓) สิทธิพิเศษภายใต้สัญญาการค้าเสรี

          สิทธิพิเศษแบบทั่วไป (Generalized System of Preferences - GSP) คือ สิทธิพิเศษในการยกเว้นหรือผ่อนผันอัตราภาษีของประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา สปป.ลาว ได้รับสิทธิพิเศษแบบทั่วไปจาก ๓๘ ประเทศ คือ ออสเตรเลีย เบลารุส แคนาดา สหภาพยุโรป (๒๘ ประเทศ) ญี่ปุ่น คาซัคสถาน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี

          สิทธิพิเศษระบบที่สอง เป็นของประเทศกำลังพัฒนาที่สมัครใจให้สิทธิพิเศษแบบฝ่ายเดียวแก่ประเทศ  ด้อยพัฒนา เช่น ระบบสิทธิพิเศษของจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และจีนไต้หวัน

          ระบบที่สาม เป็นสิทธิพิเศษภายใต้เขตการค้าเสรี (Free trade areas - FTAs) ซึ่งมีความสำคัญที่สุด    ต่อ สปป.ลาว โดยเฉพาะสัญญาการค้าเสรีอาเซียน นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ อีกทั้ง สปป.ลาว ยังเป็นภาคีของสัญญาการค้าเสรีอื่นที่มีการให้สิทธิพิเศษระหว่างกัน คือ สัญญาการค้าลาว – เวียดนาม และสัญญาการค้าเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Trade Agreement – APTA)

ขั้นตอนเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษ

          เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษด้านการค้า ผู้ส่งออกต้องสามารถพิสูจน์การได้รับเงื่อนไขแหล่งกำเนิดของสินค้าที่ตนจะส่งออก ปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านการขนส่งและจัดทำเอกสารส่วนหนึ่ง รวมทั้งใบยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้า  สรุปคือ ผู้ส่งออกควรเอาใจใส่บางขั้นตอนในการส่งออก เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษด้านการค้า ดังนี้

          ขั้นตอนที่ ๑ ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับรายการสินค้าและรหัสภาษีในสารระบบภาษีของประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้า

          ขั้นตอนที่ ๒ ตรวจดูว่าสินค้าที่จะส่งออกนั้นอยู่ในบัญชีที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันอัตราภาษีของประเทศนำเข้าหรือไม่ เพราะมีบางรายการถูกยกเว้นจากการให้สิทธิพิเศษ

          ขั้นตอนที่ ๓ ตรวจสอบเงื่อนไขด้านแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น เช่น การใช้วัตถุดิบ หรือการแปรรูปภายในประเทศตามเงื่อนไข

          ขั้นตอนที่ ๔ ตรวจสอบเงื่อนไขการจัดส่งสินค้าเพราะอาจมีระเบียบเฉพาะของประเทศนำเข้าที่กำหนด ให้มีการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางโดยตรง โดยไม่มีการพักที่โรงเก็บสินค้าหรือมีการแปรรูปเพิ่มเติมในประเทศที่สาม

          ขั้นตอนที่ ๕ จัดทำเอกสารประกอบการยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าให้ถูกต้องตามเงื่อนไขแหล่งกำเนิดสินค้าของประเทศนำเข้า โดยให้มีการยืนยันจากกรมการนำเข้าและส่งออก หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบสิทธิในการยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้า

          ขั้นตอนที่ ๖ จัดส่งใบยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าและเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นในการส่งออกไปยังผู้นำเข้า เพื่อยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศปลายทางดำเนินการตามระเบียบต่อไป

แปลและเรียบเรียงจาก - ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้า กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว : http://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=481

                                                                                                            สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต

                                                                                                                       ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐