ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมการสัมมนา Northern Logistics Forum ครั้งที่ ๔ ณ จังหวัดเชียงราย

ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมการสัมมนา Northern Logistics Forum ครั้งที่ ๔ ณ จังหวัดเชียงราย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 447 view

ระหว่าง ๒๒ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ นายธนววรธน์ มานะทัต กงสุล ได้เข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค GMS ซึ่งจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วมกับผวจ. เชียงราย และมีผู้แทนระดับสูงจากแขวงภาคเหนือของสปป.ลาว (บ่อแก้ว พงสาลี อุดมไซ ไซยะบุบี หลวงพระบาง และหลวงน้ำทา) สป.จีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ทั้งนี้ อทป.ฝ่ายการพาณิชย์ ประเทศ CLMV และผู้แทนสกญ. ณ นครคุนหมิงเข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑. การสนทนาเกี่ยวกับพัฒนาการด้าน Logistics ของประเทศเพื่อนบ้านและสป.จีน อทป.ฝ่ายการพาณิชย์ ประเทศ CLMV และผู้แทนสกญ. ณ แขวงสะหวันนะเขต และนครคุนหมิง ร่วมสนทนากับผวจ. และหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และลำปาง เพื่อหารือศักยภาพและการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้แทนสกญ.ฯ ได้สรุปความคืบหน้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน การเปิดใช้ท่าเรือบก และการเตรียมความพร้อมตรวจปล่อยร่วมจุดเดียว ณ พื้นที่ควบคุมร่วมบริเวณสะพานมิตรภาพภาพ ๒ (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) การลงทุนสำคัญของไทยในเขตอาณา และศักยภาพของลาวในการเป็นฐานการผลิตที่ต่างชาติให้ความสนใจ

           ๒. การบรรยายสรุปพัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีคมนาคม เพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่ง ก.คมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาระบบต่าง ๆ ดังนี้  (๑) ระบบถนน มีการปรับปรุงถนนในจังหวัดภาคเหนือเพื่อเชื่อมสะพานมิตรภาพ ๔ จำนวน ๙ เส้นทาง จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๓ และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน ก.คมนาคมอยู่ในระหว่างการสร้างที่พักรถบรรทุกทั่วประเทศ รวมถึงที่จังหวัดมุกดาหารและอุบลราชธานี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๗๓ อย่างไรก็ดี รองนรม. ฝ่ายเศรษฐกิจได้มอบหมายให้ ก.คมนาคมปรับแผนการก่อสร้างที่พักรถบรรทุกในทุกเส้นทางเพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน ๖ ปี (๒) ระบบราง สำหรับเส้นทางรางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่สามารถเชื่อมโยงกับแขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนะเขต และเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เพื่อเชื่อมไทย-ลาว-จีน ตามเส้นทาง R3A ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ก.คมนาคม จะเสนอ นรม. เพื่อให้ใช้ ม.๔๔ ให้สามารถดำเนินการอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กับการประเมินผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ ทางรถไฟไทยลาวจีนยังอยู่ในระหว่างการหารือ

            ๓. บรรยายกรอบการพัฒนาจังหวัดชายแดนโดย นางสาวพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ  สรุปว่า สภาพัฒน์ฯ และรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของจังหวัดชายแดน จึงจะวางแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยให้จังหวัดมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และการจ้างงานที่สามารถกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา logistics ของประเทศ สภาพัฒน์ฯ ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองรองตามเส้นทางการพัฒนาระบบราง นอกเหนือจากเมืองหลักอีกด้วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๑๐ แห่ง ตามจังหวัดชายแดน เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่แนวทางการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะไม่เหมือนของลาวและจีน เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถลงทุนในพื้นที่ของภาคเอกชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับการประกาศได้ โดยไม่ต้องเช่าที่ดินของภาครัฐ และจะได้รับสิทธิเสมอกับการลงทุนในที่ดินของรัฐบาล อาทิ การยกเว้นภาษีกำไรประกอบการ และการจ้างแรงงานต่างชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติที่ประสงค์ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ยังคงต้องจดทะเบียนบริษัทร่วมกับคนไทย 

               ๔. การเสาวนาการลงทุนจากผู้แทนประเทศ CLMV ผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในประเทศของตน เพื่อส่งเสริม FDI และการลงทุนออกสู่ตรงประเทศ ทั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจ อาทิ (๑) ผู้แทนแขวงภาคเหนือของ สปป.ลาว เล่าถึงนโยบายที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีบทบาทยิ่งขึ้นในการปฏิบัติตามแนวทางส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและจะเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น (๒) ผู้แทนหอการค้ามัณฑะเลย์และเชียงตุงร้องขอการเพิ่มโควต้าในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศสู่ สป.จีน (๓) ผู้แทนเวียดนามแนะนำว่า ผู้บริหารระดับจังหวัดมีดุลยพินิจในการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากกว่าที่รัฐบาลกลางสามารถให้ได้ (๔) ผู้ช่วยทูตพาณิชย์กัมพูชา กล่าวถึงโอกาสของกัมพูชาหากสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของไทยและเวียดนามได้ (๕) สป. จีน กล่าวถึง นโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนจีนให้ไปลงทุนต่างประเทศตามเส้นทาง One Road, One Belt

                 ๕. การอภิปรายนวัตกรรมการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน

                     (๑) นายวิชานัน นิวาตจินดา ผอ. กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน  ก.พาณิชย์ นำเสนอว่า นวัตกรรมอันเกิดจากการวิจัยและพัฒนามีความสัมพันธ์ทางตรงกับรายได้ของประเทศอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงน่าสังเกตว่า การเติบโตของ GDP ของเวียดนามอาจจะรุดหน้ากว่าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อบ่งชี้จาก ดัชนีนวัตกรรมของเวียดนามซึ่งในปี ๒๕๕๘ ได้ก้าวแซงของไทยแล้ว (เวียดนามลำดับที่ ๕๒ กระโดดจากลำดับที่ ๗๑ ในปี ๒๕๕๗ ในขณะที่ไทยอยู่ในลำดับที่ ๗๑ ตกลงจากลำดับที่ ๔๘ ในปี ๒๕๕๗)

                     (๒) นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความห็นว่า เส้นทางคมนาคมทางอากาศว่า มีเฉพาะระหว่างเมืองใหญ่เท่านั้น ทางน้ำ ยังมีข้อจำกัดในการเดินเรือตามแม่น้ำโขง ดังนั้น ในกรอบ GMS การคมนาคมทางบกจึงมี ศักยภาพสูงสุด  โดยมีพัฒนาการน่าสนใจ อาทิ การตรวจปล่อยร่วมในพื้นที่ CCA ซึ่งมีเส้นทางมุกดาหาร – สะหวันนะเขต – กวางจิ เป็นต้นแบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเวลาในการดำเนินการแล้ว ยังน่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายบริเวณด่านลงได้ นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษก็ยังเป็นอีกนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนให้ยิ่งขึ้น                                                               

                    (๓) ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แสดงความเชื่อมั่นว่า กรอบแม่โขง-ล้านช้าง จะเป็น “นวัตกรรม” ที่จะเข้ามาแทนที่กรอบ GMS เนื่องจากจีนประสงค์เป็นผู้นำในอนุภูมิภาค โดยไม่มีอิทธิพลของ ADB และกลุ่มชาติตะวันตกอื่น ๆ และได้แนะนำให้กลุ่มประเทศ GMS “rise with the dragon” โดยการเกาะเกี่ยวกับนโยบาย One Belt, One Road เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและโอกาสทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเล่าถึงการตัดสินใจของ นรม. ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงระหว่าง กทม. – โคราช ด้วยงบประมาณของไทยเอง และพัฒนาเส้นทางรางคู่จากโคราช-หนองคาย เพื่อเชื่อมกับสปป.ลาว จีน และประเทศอื่น ๆ โดยมีข้อสังเกตว่า จีนมีประสบการณ์ในการพัฒนาทางรถไฟระหว่างประเทศผ่านเฉิงตูดังกล่าว และสามารถแก้ปัญหาความแตกต่างของขนาดรางโดยการเปลี่ยนถ่ายขบวนรถ จนสามารถขนส่งสินค้าไปยุโรปโดยใช้เวลาเพียง ๑๒ วัน จากเดิมทางทะเลใช้เวลาถึง ๔๕ วัน  ดังนั้น รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟไทยลาวจีนในปัจจุบันถึงแม้มีความต่างของความเร็วและขนาดราง แต่ก็น่าจะเกิดประโยชน์ร่วมได้  อย่างไรก็ดี มีความท้าทายเนื่องจาก จีนจะมุ่งเน้นการส่งสินค้าทะเลผ่านทางปากีสถาน และทางเส้นทางรถไฟผ่านห้าประเทศสู่ยุโรปที่เฉิงตูมากกว่าผ่านกลุ่มประเทศอาเซียน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ