1. การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 70 คน โดยในช่วงเช้าเป็นการหารือระหว่างนักธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจในเขตอาณาสกญ.ฯ ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่ร่วมกับผู้แทนหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ได้แก่ (1) ทปษ. สนง.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ (2) พาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร (3) ผอ.สนง. การค้าต่างประเทศ เขต 9 (มุกดาหาร) (4) ผู้แทนศุลกากรมุกดาหาร(5) ผู้แทนตม. มุกดาหาร (6) ผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ (7) ผู้แทนสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการศึกษาไทย จีน อาเซียน เข้าร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูล และในช่วงบ่ายได้เชิญผู้แทนแผนกอุตสาหกรรมและการค้า แผนกแผนการและการลงทุน และกองบัญชาการป้องกันความสงบแขวงสะหวันนะเขตมาให้คำแนะนำและตอบคำถามแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฝ่ายไทย
2. กสญ.ฯ ได้สรุปพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแขวงภาคกลางและภาคใต้ของสปป.ลาวประกอบด้วย (1) การเสนอขอยกระดับเมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขตและเมืองปากเซ แขวงจำปาสักขึ้นเป็นนคร (2) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงต่าง ๆ (3) การเชื่อมโยงและการผลักดันการเดินรถโดยสารในภูมิภาคผ่านเส้นทางหมายเลข 8 และ 12 และการนำเส้นทางดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ CBTA ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน (4) โอกาสทางธุรกิจของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรในแขวงสาละวัน และด้านการท่องเที่ยวในแขวงคำม่วน (5) การลงทุนขนาดใหญ่ของจีนและการย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นจากไทยทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น
3. การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการลงทุนในสปป.ลาว
3.1 ปัญหาแรงงานขาดแคลนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนในสปป.ลาว ทั้งแรงงานที่มีฝีมือและไร้ฝีมือ และมีทิศทางน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเนื่องจากนักศึกษาลาวรุ่นใหม่นิยมทำงานใน office จึงเลือกเรียนในสายบัญชีและบริหารธุรกิจเป็นส่วนมาก ทำให้จำนวนนักศึกษาสายอาชีวะซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการไทยลดลง อีกทั้งยังเกิดสภาวะไหลบ่าไปทำงานในประเทศไทยเนื่องจากค่าจ้างที่สูงกว่าสปป.ลาว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจึงเสนอให้หน่วยงานไทยจัดการอบรมแรงงานลาวในด้านอาชีวะเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ สกญ.ฯ ได้ชี้แจงความร่วมือของ กต. กับ ก.แรงงาน ในการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชายแดน
3.2 ผู้แทน SMEs Bank ได้ชี้แจงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของธนาคารซึ่งออกตามมติครม. เมื่อ 16 มิ.ย. 2558 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยใน ASEAN สามารถกู้ยืมได้ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs นอกจากนี้ EXIM Bank ยังมีนโยบายส่งเสริมการกู้ยืมเพื่อขยายฐานการผลิตมายังประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะเดียวกันอีกด้วย
3.3 ปัญหาการบังคับใช้กฎระเบียบของสปป.ลาวที่นักลงทุนไทยประสบบ่อยครั้ง เช่น
(1) การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบ่อยและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างทั่วถึง
(2) การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันในระดับพื้นที่อาทิ (1) “อากรเคลื่อนย้าย” ที่เรียกเก็บจากการเคลื่อนย้ายผลิตผลทางการเกษตรที่มีเฉพาะในแขวงสาละวัน เซกองและอัตตะปือ (2) กรณีการเรียกเก็บประเภทและอัตราภาษีที่แตกต่างกันแม้ดำเนินธุรกิจเดียวกันในแขวงเดียวกันโดยหน่วยงานในระดับเมือง (อำเภอ) ซึ่งส่งผลให้การคำนวณต้นทุนการผลิตคลาดเคลื่อน
3.4 ปัญหาการขนส่ง ผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาการที่บางแขวงไม่อนุญาตให้นำรถสินค้าไทยเข้ามารับสินค้าเพื่อขนส่งเข้าประเทศไทยได้ ที่ผ่านมานักลงทุนหลายรายได้หาทางช่วยเหลือตนเอง อาทิ การเจรจากับแผนกโยธาธิการและขนส่งและสมาคมขนส่งแขวงในประเด็นดังกล่าว และหลายบริษัทได้จดทะเบียนรถขนส่งของตนในสปป.ลาวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ และได้มีการเสนอให้หน่วยงานไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับจังหวัด/แขวง ไทย-ลาว-เวียดนาม เพื่อแก้ปัญหาการขนส่ง ทั้งนี้ กสญ.ฯ อธิบายว่า ปัจจุบันมีเวทีหารือ 3 ประเทศ 9 จังหวัดในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่ในส่วนของไทยเป็นอำนาจหน้าที่ของก.คมนาคมส่วนกลาง ซึ่งต่างกับของลาวและเวียดนามที่จังหวัด/แขวงสามารถให้ความเห็นชอบ/ลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ได้
3.5 ปัญหาอื่น ๆ
(1) ปัญหากฎระเบียบของไทยที่มีการปกป้องสินค้าภายในปทท. โดยผู้ลงทุนไทยที่ดำเนินการปลูกยางพาราแจ้งต่อที่ประชุมว่า กฎระเบียบของไทยไม่อนุญาตให้นำยางพาราเข้าประเทศไทย และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นโยบายปกป้องสินค้าเกษตรดังกล่าวจะ backfire ในอนาคตเมื่อผู้ลงทุนเวียดนามและจีน กว้านซื้อยางลาวที่ราคาถูกกว่าไทยประมาณ 15 บาท/แผ่น ไปส่งขายบริษัทแปรรูปในต่างประเทศจนยางพาราที่ผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
(2) ธนาคารกลางของลาวปรับกฎระเบียบเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนสำหรับการเปิดสาขาของธนาคารต่างประเทศในลาวในอัตราที่สูงขึ้นจนอาจจะไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเปิดและขยายสาขาในสปป.ลาว
(3) การขอรับใบอนุญาตเพื่อพำนัก/ทำงานในสปป.ลาวใช้ระยะเวลานาน และอาจมีจำนวนจำกัด
4. ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หยิบยกอุปสรรคในการถ่ายทำรายการในสปป.ลาว กสญ.ฯ ชี้แจงว่า การขออนุญาตกระทรวง/แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยวต้องผ่านช่องทางที่ถูกต้องและฝ่ายลาวต้องใช้เวลาพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียด อีกทั้งยังต้องอาจส่งผู้แทนติดตามการถ่ายทำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ผลิตรายการต้องรับผิดชอบด้วย
5 กรมศุลกากรมีนโยบายปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเก็บภาษีและการควบคุมเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยสะดวก โดย (1) ได้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพิ่มศักยภาพให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น (2) ยกเว้นการตรวจสินค้าส่งออกกว่าร้อยละ 90 ภายใต้กฎระเบียบที่มีอยู่เพื่อลดต้นทุน (3) ด่านชายแดนจะได้รับการพัฒนาอาคารโครงสร้างยิ่งขึ้นเนื่องจากได้รับงบพัฒนาด่านมากขึ้นจากรัฐบาลซึ่งสะท้อนมูลค่าการค้าชายแดนที่มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน และ (4) ในส่วนของเส้นทางสาย 9 ได้เตรียมความพร้อมรับการตรวจปล่อยจุดเดียวในพื้นที่ควบคุมร่วมแล้ว เหลือเพียงการเชื่อมต่อระบบจากฝั่งลาวกับเครือข่ายในฝั่งไทย
6. ข้อคิดเห็นของผู้แทนหน่วยงานลาว
6.1 พันโท บุนเด็ด แสนลาด รองหัวหน้าห้องสันติบาน (หัวหน้าแผนกตำรวจตรวจคนเข้า-ออกเมือง) กองบัญชาการป้องกันความสงบแขวงสะหวันนะเขตได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบการเข้า-ออกเมือง และการอาศัยอยู่ในสปป.ลาวของนักลงทุนต่างชาติ
6.2 นายคำผุย สีบุนเฮือง รองหัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมและการค้าและกองคำ ไซปันยา รองหัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุนตอบข้อซักถามของผู้ประกอบการไทย อาทิ
(1) ชี้แจงขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนในลาวซึ่งแผนกแผนการฯ รับผิดชอบสัมปทานและแผนกอุตสาหกรรมและการค้ารับผิดชอบการลงทุนอื่น ๆ และหากต้องได้รับการอนุมัติจากแผนกอื่นๆ ก็มีคณะกรรมการขั้นแขวงพิจารณาร่วมกัน ทั้งนี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนสามารถติดต่อศูนย์ One Stop Service ในเขตได้โดยตรง
(2) การขอ อย. สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในแขวงฯ สามารถขอในแขวงโดยผ่านอย. ของแขวงและแผนกอุตสาหกรรมและการค้า
(3) สินค้าที่ผลิตในลาว แม้ว่าจะเป็นการลงทุนของต่างชาติก็สามารถได้รับสิทธิ GSP ในการส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยแผนกอุตสาหกรรมและการค้าจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง origin ของสินค้า
(4) ผู้ลงทุนสามารถการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศหากไม่สามารถหาในสปป.ลาวได้ และหากประสงค์ขอยกเว้นภาษีต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการเงิน (คลัง) ก่อน ทั้งนี้ การนำเข้าน้ำมันไม่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว
(5) แขวงสะหวันนะเขตมีนโยบายการการแก้ไขปัญหาแรงงานในระดับแขวงโดยอนุญาตให้นำแรงงานลาวจากแขวงอื่น ๆ มาทำงานได้ และส่งเสริมให้สถานศึกษาส่งนักเรียนไปฝึกหัดอาชีพในโรงงานต่าง ๆ ในระหว่างการศึกษาเพื่อให้มีทักษะพร้อมทำงานในโรงงานนั้น ทั้งนี้ ในส่วนแรงงานต่างชาตินั้นยังมีการควบคุมอัตราจำนวนอยู่ในระดับร้อยละ 10 – 30
(6) หากบริษัทประกอบการขาดทุนสามารถร้องขอให้หักอัตราส่วนที่ขาดทุนออกจากกำไรในปีถัดไปเพื่อขอยกเว้นภาษีกำไรได้
(7) นอกเหนือจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งการบริหารขึ้นอยู่กับสำนักงานนายกรัฐมนตรีในส่วนกลางแล้ว แขวงสะหวันนะเขตมีการจัดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอีก 2 เขตที่บริเวณด่านสากลแดนสะหวัน-ลาวบาว และที่เมืองไซบุลี ซึ่งนักลงทุนไทยอาจพิจารณาความเหมาะสมได้
(8) การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ แต่การตั้งสถานีบริการน้ำมันในแขวง แผนกอุตสาหกรรมและการค้าสามารถออกใบอนุญาตได้
(9) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าระหว่างนักธุรกิจต่างชาติกับนักลงทุนลาวเป็นภารกิจของห้องการไกล่เกลี่ยทางเศรษฐกิจ แผนกยุติธรรม และแผนกแผนการและการลงทุนสามารถช่วยไกล่เกลี่ยในด้านการลงทุนที่เป็นสัมปทานได้ นอกจากนี้ หากบริษัทเป็นสมาชิกของสภาการค้าและอุตสาหกรรม (เทียบเท่าหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมของไทย แต่อยู่ภายใต้การกำกับของแผนกอุตสาหกรรมและการค้า) ก็สามารถร้องขอให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยของสภาฯ ช่วยเหลือได้
* * * * *
สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
28 กรกฎาคม 2558