ADB คาดการณ์ เศรษฐกิจลาวยังคงเติบโต แม้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ADB คาดการณ์ เศรษฐกิจลาวยังคงเติบโต แม้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,577 view

          ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจลาวจะยังคงเติบโต แม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการ Lockdown ประเทศ โดย ADB ได้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจลาวในปี 2021 จะยังเติบโตที่ร้อยละ 4 และในปี 2022 จะเติบโตที่ร้อยละ 4.5 ซึ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจยังคงเติบโต ได้แก่การวางโครงการการพัฒนาด้านการเกษตร และโครงการด้านพลังงาน มีส่วนทำให้เพิ่มมูลค่าการพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของโรค

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจลาวในปี 2019 เติบโตร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ดึงดูดนักลงทุน แต่การระบาดของโรครอบใหม่ ย่อมเป็นสิ่งท้าทายต่อการพัฒนาและฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การที่ สปป.ลาว ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วพร้อมด้วยมาตรการเสริมสร้างการจัดการเศรษฐกิจมหภาค จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเป็นสิ่งที่รับรองสวัสดิการของประชาชนด้วย

         จากรายงานของ ADB พบว่า มีการฟื้นตัวของภาคเกษตรกรรมภายในปีนี้ โดยสังเกตมูลค่าสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในส่วนของพืชผลการเกษตรยังมีมูลค่าไม่มากนัก เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นในช่วงที่ผ่านมา และการขาดแคลนระบบชลประทานในบางพื้นที่ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

          ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้น ทำให้ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เหมืองแร่ โครงการสัมปทาน ที่ดำเนินงานในปี 2021 และ 2022 และคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงาน และความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนของภาคบริการ ที่มีการฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากการท่องเที่ยวภายใน อันมีผลมากจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนา เช่น โครงการทางด่วนเวียงจันทน์ – วังเวียง ที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศสะดวก คล่องตัว และย่นระยะทางได้มากขึ้น

          ในส่วนของการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว อาจจะต้องประเมินในปี 2022 ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลาง คือ การค้าส่ง ค้าปลีก การขนส่ง

          ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของลาวในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการขึ้นราคาอาหารที่ได้ผลมาจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ และในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และคาดว่าในปี 2022 จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 5 ซึ่งจากการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านปริมาณมาก ส่งผลให้ค่าเงินกีบอ่อนค่า ทั้งนี้ ลาวจำเป็นต้องเร่งผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าและกระตุ้นให้เกิดการใช้เงินกีบมากยิ่งขึ้น

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ Vientiane Times